Economics

เปิด 3 ส่วนสำคัญ ‘โครงสร้างราคาน้ำมัน’ ตัวกำหนด ‘ราคาถูก-แพง’

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขณะนี้ เต็มไปด้วยความผันผวน มีการปรับตัวขึ้น-ลงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันทั่วโลก รวมถึง ไทย ที่แม้จะมีแหล่งน้ำมันดิบที่สามารถผลิตเองได้ แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ จึงต้องมีการนำเข้าทั้งน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่นำเข้ามาจากภูมิภาคเอเชีย

ก่อนจะเป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่เติมจากสถานีบริการนั้น น้ำมันดิบต้องนำมาผ่านกระบวนการกลั่นของโรงกลั่น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้เงินลงทุนสูง ให้กลายเป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่พร้อมใช้งาน

ราคาน้ำมัน

อีกทั้งแต่ละประเทศมีความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบไม่เท่ากัน และราคายังถูกกำหนดให้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐของประเทศนั้น ๆ อีกด้วย จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในแต่ละประเทศแตกต่างกัน

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบ

  • การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความต้องการเชื้อเพลิงแต่ละฤดูกาล

เมื่อเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจขยายตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น และแรงผลักดันให้ราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้น

  • ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีผลทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้น

อาทิ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสภาวะสงครามในแต่ละภูมิภาค ข้อตกลงกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกินไป  และปริมาณความต้องการน้ำมันดิบโดยรวมของตลาดโลก อันเนื่องมาจากปริมาณสำรองน้ำมันดิบ (Inventory) ของโรงกลั่นน้ำมันในแต่ละภูมิภาค

  • สภาพอากาศและภัยพิบัติ

เช่น พายุเฮอริเคน มีผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบในทะเลต้องหยุดการผลิต หรือ แผ่นดินไหว จนแหล่งผลิต หรือท่อสำหรับขนส่งได้รับความเสียหาย ซึ่งส่งผลต่อปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะหากแหล่งผลิตนั้นเป็นแหล่งที่มีกำลังการผลิตในระดับสูง

  • สงครามการค้า
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
  • ปัจจัยภายในของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

ในหลายประเทศ รัฐมีนโยบายสนับสนุนราคาน้ำมัน (Price Subsidy) หรือมีนโยบายสนับสนุนราคาน้ำมันชีวภาพ มาตรการภาษี การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ย่อมมีผลต่อการปรับขึ้นลงของราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูป ประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันอยู่มาก และส่งออกอย่าง บรูไน และมาเลเซีย จึงสามารถกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปให้ต่ำได้

ขณะที่ประเทศไทยมีหน่วยงานภาครัฐ เป็นผู้กำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีก เพื่อเป็นกลไกของรัฐในการรักษาระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ

ราคาน้ำมัน

ไทยมีแหล่งน้ำมันดิบ แต่ผลิตได้แค่ 10% ของความต้องการในประเทศ 

ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดว่า ประเทศไทยส่งออกน้ำมัน เพราะมีเหลือใช้มากมาย แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบได้แค่ประมาณ 10% ของปริมาณการใช้เท่านั้น และบางส่วนมีสารปนเปื้อนสูงเกินกว่าที่โรงกลั่นในประเทศจะรับได้ จึงจำเป็นต้องส่งออก

ไทยผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 136,183 บาร์เรลต่อวัน แต่ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ประมาณ 1,128,591 บาร์เรลต่อวัน จึงต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 962,155 บาร์เรลต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานภายในประเทศ (EPPO ธ.ค. 2566) โดยประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางประมาณ 57% ตะวันออกไกล 19% และแหล่งอื่น ๆ เช่น สหรัฐ ลิเบีย และออสเตรเลีย รวม 24%

ในส่วนของน้ำมันสำเร็จรูป  พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยมีการผลิตอยู่ที่ 174 ล้านลิตรต่อวัน มีการใช้งานที่ 152 ล้านลิตรต่อวัน และนำเข้าอยู่ที่ 9 ล้านลิตรต่อวัน (DOEB Thailand ธ.ค. 2566)

เปิดโครงสร้าง “ราคาน้ำมันไทย” 

โครงสร้างราคาน้ำมันของแต่ละประเทศ โดยหลักประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ภาษีและกองทุนต่าง ๆ และ ค่าการตลาด ซึ่งโครงสร้างในแต่ละส่วนจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามนโยบายด้านพลังงานของแต่ละประเทศ

ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ที่ซื้อจากโรงกลั่น หรือที่เรียกว่า “ราคา ณ โรงกลั่น” มีสัดส่วนประมาณ 71% ของราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งต้นทุนเนื้อน้ำมันใช้หลักการกำหนดราคาแบบ Import Parity ที่อ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ ตลาดซื้อขายน้ำมันใหญ่ที่สุดของเอเชีย (ไม่ได้เป็นราคาที่ประกาศโดย ประเทศสิงคโปร์ หรือโรงกลั่นสิงคโปร์ แต่เป็นราคาที่สะท้อนถึงการซื้อขายของทุกประเทศในภูมิภาคนี้)

ราคาน้ำมันจะมีค่าในการปรับปรุงคุณภาพ เพื่อปรับให้สอดคล้องกับคุณภาพของประเทศไทย และรวมค่าขนส่งซึ่งในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปตามระยะทาง โดยหลักการกำหนดราคาดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค อาทิ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย และ มาเลเซีย

ภาษีและกองทุนต่าง ๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูป ประกอบด้วย

  • ภาษีสรรพสามิต กรมสรรพสามิตเป็นผู้เรียกเก็บให้เป็นรายได้ของภาครัฐน้ำมัน เนื่องจาก​​​น้ำมันจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
  • ภาษีเทศบาล เรียกเก็บเพื่อบำรุงท้องถิ่น คิดเป็น 10% ของภาษีสรรพสามิต
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม รัฐเรียกเก็บ ณ ที่จุดจำหน่ายเช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่น ๆ เพื่อนำไปพัฒนาประเทศด้านต่างๆ โดยปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจการขายสินค้า การให้บริการทุกชนิด และการนำเข้า อยู่ที่อัตราร้อยละ 7
  • กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เรียกเก็บโดยกระทรวงพลังงาน จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เมื่อเกิดราคาน้ำมันผันผวน
  • กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนอุดหนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงาน สำหรับสนับสนุนการค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาการใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงานของประเทศ มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นผู้กำกับควบคุม

ราคาน้ำมัน

โครงสร้างเหล่านี้ จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน เช่น มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ที่รัฐบาลไม่มีนโยบายการจัดเก็บภาษี เนื่องจากมีรายได้จากการผลิต และส่งออกน้ำมัน รวมถึงยังมีมาตรการอุดหนุนราคาขายปลีกอีกด้วย จึงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของมาเลเซียถูกกว่าไทย

หรืออย่างเมียนมา ที่มี โครงสร้างราคาที่เหมือนกับไทย คือ ต้นทุนเนื้อน้ำมันจากโรงกลั่นที่มีสัดส่วนมากที่สุด แต่การจัดเก็บภาษีน้ำมันจะมีอัตราที่ต่ำกว่าไทย และไม่มีการเก็บเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ

ค่าการตลาด  ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ที่แต่ละแห่งจะมีทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าบริหารจัดการดูแลสถานีบริการ รวมถึงกำไรของผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% ของราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูป

สุดท้ายนี้ไม่ว่าราคาพลังงานจะขึ้น-ลง อย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือการเห็นคุณค่า และใช้พลังงานอย่างประหยัด เช่น วางแผนการเดินทางให้ดี ดับเครื่องรถยนต์ เมื่อต้องจอดเป็นเวลานาน ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด และปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน ซึ่งสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ จะทำให้มีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนต่อไปอีกในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo