Business

การรถไฟฯ รับเงินค่าเช่าที่ดินจาก ‘ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว’ กว่า 1,387 ล้านบาท ปีที่ 16

การรถไฟฯ รับชำระค่าเช่าการใช้ประโยชน์ที่ดิน บริเวณที่ดินสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน จากบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา ประจำปี 2567 จำนวนกว่า 1,387 ล้านบาท

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เป็นผู้แทนการรถไฟฯ รับเช็คค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินประจำปี 2567 จากนายปัณฑิต มงคลกุล ประธานกรรมการบริหารสายบัญชีการเงิน นายสุภรัฐ จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส เป็นผู้แทนจากบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นค่าใช้ประโยชน์จากการใช้พื้นที่ของการรถไฟฯ ในรอบระยะเวลา 1 ปี (วันที่ 19 ธันวาคม 2566 – 18 ธันวาคม 2567) เป็นเงิน 1,387,603,000 บาท

ค่าเช่า

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การได้รับชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนครั้งนี้ เป็นไปตามที่การรถไฟฯ ได้ทำสัญญาให้สิทธิใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน จำนวนพื้นที่ 47.22 ไร่ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ บริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2551 ในกรอบระยะเวลาการใช้ประโยชน์ 20 ปี (วันที่ 19 ธันวาคม 2551 – 18 ธันวาคม 2571)

ทั้งนี้ มีผลตอบแทนรวมตลอดอายุสัญญาเป็นเงิน 21,298,833,000 บาท (สองหมื่นหนึ่งพันสองร้อยเก้าสิบแปดล้านแปดแสนสามหมื่นสามพันบาทถ้วน) แบ่งออกเป็นรายได้จากค่าเช่ารายปี 18,687,730,000 บาท และค่าผลประโยชน์ตอบแทนการได้สิทธิ์ 2,611,103,000 บาท โดยกำหนดชำระค่าผลประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน ภายในวันที่ 19 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งจะต้องชำระให้แก่การรถไฟฯ เป็นรายปี รวมทั้งหมด 20 งวด ตลอดระยะเวลาสัญญา

ค่าเช่า

สำหรับการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน ตามสัญญาให้สิทธิ์ใช้ประโยชน์ศูนย์การค้า บริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน ประจำปี 2567 ครั้งนี้ เข้าสู่ปีที่ 16 ที่การรถไฟฯ จะได้รับจาก บริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์ พัฒนา จำกัด โดยคิดเป็นจำนวนเงิน 1,387,603,000 บาท (หนึ่งพันสามร้อยแปดสิบเจ็ดล้านหกแสนสามพันบาทถ้วน) ส่งผลให้นับตั้งแต่เริ่มสัญญาจนถึงปัจจุบัน ระหว่างปี 2551-2567 การรถไฟฯ ได้รับชำระค่าผลประโยชน์แล้วทั้งสิ้น 13,724,144,000 บาท (หนึ่งหมื่นสามพันเจ็ดร้อยยี่สิบสี่ล้านหนึ่งแสนสี่หมื่นสี่พันบาทถ้วน)

ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้วางกรอบแนวทางการดำเนินงาน และการบริหารที่ดินของการรถไฟฯ ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ Core Business เป็นพื้นที่ย่านสถานี ที่ทำการ เขตทางรถไฟ และพื้นที่Non-Core Business ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ โดยในอนาคตการรถไฟฯ จะดำเนินการตามแผนงานที่จะนำพื้นที่ Non-Core Business มาพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะดำเนินการออกจัดประโยชน์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับการรถไฟฯ ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight