กรมธนารักษ์ ลงนามร่วมมือกรมชลประทาน แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของกรมชลประทาน กำหนดพื้นที่ 3 โซน
วันนี้ (27 กันยายน 2566) นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาการบุกรุก ที่ราชพัสดุ ที่อยู่ในความครอบครองของกรมชลประทาน
นายจำเริญ เปิดเผยว่า ภายใต้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว กรมธนารักษ์ และกรมชลประทาน จะร่วมมือกันเพื่อการบูรณาการประสานความร่วมมือ กำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินราชพัสดุ ที่อยู่ในความครอบครองของกรมชลประทาน
ทั้งนี้หลักการ คือ ใช้ประโยชน์ในราชการของกรมชลประทาน และนำกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ มาผ่อนปรนให้ราษฎรสามารถอาศัยทำกินได้ ในพื้นที่ที่กรมชลประทานเห็นชอบ โดยการกำหนดพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน (Zoning) แบ่งออกจำนวน 3 โซน ดังนี้
โซนที่ 1 พื้นที่เพื่อการชลประทานเป็นหลัก
โซนที่ 2 พื้นที่ผ่อนปรน กรมชลประทานยังคงสงวนไว้ใช้ประโยชน์ในการชลประทาน แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ชัดเจน และเห็นชอบร่วมกันให้มีการยินยอมผ่อนปรนให้สามารถนำที่ดินมาจัดให้ราษฎรเช่าเป็นการชั่วคราว ภายใต้เงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดิน และระยะเวลาการเช่าที่ทางราชการกำหนด
โซนที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ กรณีกรมชลประทานไม่ประสงค์สงวนไว้ใช้ประโยชน์ในการชลประทานอีกต่อไป เนื่องจากหมดความจำเป็นหรือเคยใช้ประโยชน์แต่ต่อมาเลิกใช้ประโยชน์แล้ว ยินยอมส่งคืนให้กรมธนารักษ์นำมาบริหารจัดการตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ รวมถึงการบูรณาการ เรื่อง การจัดทำข้อมูลด้านทะเบียนที่ราชพัสดุและข้อมูลการบุกรุกที่ดินราชพัสดุ
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ จะเป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยงาน ในการทำงานร่วมกันต่อไป โดยในการดำเนินการจังหวัดเจ้าของพื้นที่จะแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่
สำหรับการลงนามบันทึกความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ ได้ตกลงร่วมกันในการบูรณาการความร่วมมือดำเนินการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของกรมชลประทาน ในพื้นที่โครงการนำร่อง จำนวน 6 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย นครปฐม เพชรบุรี สุรินทร์ และนครนายก
ส่วนพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ และหน่วยงานกรมชลประทานที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้น สามารถดำเนินการบริหารจัดการ และการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุตามแนวทางและมาตรการที่กรมธนารักษ์และกรมชลประทานได้ตกลงร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ได้ด้วยเช่นกัน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กรมธนารักษ์ แจงข้อเท็จจริง ตัดไม้พะยูงในที่ดินราชพัสดุ จังหวัดกาฬสินธุ์
- กรมธนารักษ์ เปิดแลกเหรียญที่ระลึก ’60 ปี มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ’ 23 ส.ค.นี้
- รับมือหน้าฝน กรมชลประทาน เปิดแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566