Business

รัฐ-เอกชน ผนึกกำลังหนุนอุตสาหกรรมยางพาราไทย เพิ่มมูลค่าแข่งตลาดโลก

10 หน่วยงานรัฐ-เอกชน จับมือเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมยางพาราไทยในตลาดโลก เตรียมวงเงิน 2,000 ล้านบาทปี 2566 ช่วยเอสเอ็มอียางพารา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง และ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นสักขีพยานลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อขยายความร่วมมือโครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา (CARE)

อุตสาหกรรมยางพาราไทย

ทั้งนี้เป็นลงนามความร่วมมือหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (สภาหอฯ) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด

ความร่วมมือดังกล่าว เพื่อยกระดับซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยางพารา ให้สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมากขึ้น

อาคม
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

ปัจจุบันการส่งออกยางพารา และผลิตภัณฑ์มีมูลค่ากว่า 6.8 แสนล้านบาทต่อปี ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 6 ล้านคน ตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ เกษตรกรชาวสวนยาง ครอบคลุมพื้นที่สวนยางกว่า 18 ล้านไร่ จนถึงกลางน้ำ อาทิ โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแห้ง โรงงานแปรรูปไม้ยาง

ส่วนอุตสาหกรรมปลายน้ำ อาทิ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานก่อสร้างและงานวิศวกรรม สายพาน เฟอร์นิเจอร์ไม้ยาง วัสดุก่อสร้าง ของเล่น ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางอื่น ๆ

ลงนาม

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย

สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ จะดำเนินการช่วยเหลือและสนับสนุนตามพันธกิจเพื่อสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร โอกาส และเงินทุนอย่างบูรณาการ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ การส่งออก การจัดการเงินทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ยางพารา

ขณะที่เป้าหมายของโครงการ ได้แก่ การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง การผลักดันสินค้าและการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy)

การเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราและมูลค่าการส่งออกของไทย การให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการและการบริหารการเงิน ความรู้ด้านการส่งออก และความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการเป็นต้นแบบการบูรณาการความร่วมมือในระบบห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป

คลัง 1

ในช่วงแรกของการดำเนินงานภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนงฉบับแรก หน่วยงานพันธมิตรจะประชาสัมพันธ์โครงการไปยังสมาชิกในซัพพลายเชน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์บูรณาการอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ณ นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานแบบครบวงจรให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่

การลงนามขยายความร่วมมือการดำเนินโครงการครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสนับสนุนด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ​ โดยเฉพาะ SMEs ในอุตสาหกรรมยางพาราไทย เป็นวงเงินจำนวน 2,000 ล้านบาทในปี 2566

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็น ตลอดจนขยายโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ได้อย่างมาก ทำให้ยางพาราไทยมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo