Business

‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% หวั่นกระทบส่งออกไทยชะลอตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ไปที่ระดับ 5.00-5.25% คาดกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หวั่นส่งออกชะลอตัวลง 

​ จากการประชุม FOMC วันที่ 2-3 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เฟดมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ตามคาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับมาอยู่ที่ระดับ 5.00-5.25%

ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

 

พร้อมกันนี้ ยังส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย โดยใน statement ไม่มีการระบุว่าการปรับดอกเบี้ยนโยบายต่อเป็นนโยบายที่เหมาะสม ดังเช่นในการประชุมครั้งก่อน

ทั้งนี้ เฟดมองว่า ทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ยังขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ออกมาหรือ data-dependent เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เฟดยังไม่มองการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากเฟดมองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาที่จะปรับลดลงมาสู่ระดับเป้าหมาย ในขณะเดียวกันเฟดก็ยังไม่ปิดความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในระยะข้างหน้า

​ สำหรับประเด็นปัญหาธนาคารสหรัฐ เฟดยังมีมุมมองเหมือนในการประชุมครั้งก่อนว่าระบบการธนาคารของสหรัฐนั้นยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่สินเชื่อที่ตึงตัวขึ้นจากปัญหาดังกล่าวคงจะส่งผลกระทบ ต่อไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า และส่งผลให้ความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อนั้นมีน้อยลง

เฟด

​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สำหรับผลกระทบต่อไทย การส่งสัญญาณหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คงช่วยลดแรงกดดันต่อ กนง. โดยคาดว่า กนง. จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในการประชุมในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้

ขณะที่การส่งสัญญาณไม่ปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ของเฟด สะท้อนมุมมองของเฟด ที่ยังคง hawkish อยู่ ซึ่งการที่ดอกเบี้ยสหรัฐ ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง และอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยบางไตรมาสในปีนี้ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านทางการส่งออกให้ชะลอตัวลงกว่าเดิม

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท การส่งสัญญาณหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ มีทิศทางอ่อนค่าลง

ในส่วนของค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า ยังคงมีแนวโน้มที่จะเผชิญความผันผวน ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงของไทยที่ออกมา อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนจากประเด็นการเลือกตั้งที่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo