Business

ครั้งแรก! ททท. จัด ‘มหาสงกรานต์ 2566’ สาดความสุขแบบอินเตอร์ กับคาราวานเทศกาล 5 ชาติ 13-15 เม.ย.นี้

ครั้งแรก! ททท. จัด “เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2566” ยกระดับสู่สากล กับคาราวานเทศกาล 5 ชาติ 13-15 เม.ย.นี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ประเพณีสงกรานต์ ของประเทศไทยถือเป็นหนึ่งใน 5F ซึ่งเป็น Soft Power of Thailand คือ F Festival และการท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) ของไทยสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาอย่างยาวนาน

และ “ประเพณีสงกรานต์” ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 3 เทศกาลสำคัญของเอเชียจาก International Festival and Events Association (IFEA) ในปี 2564

สงกรานต์ 2566

เทศกาลสาดความสุข สนุกแบบอินเตอร์

ด้วยเหตุนี้ ททท. จึงมีแนวคิดต่อยอดยกระดับงานประเพณีพื้นเมืองไทยสู่สากล (Local to Global) โดยเริ่มต้นจากเทศกาลสงกรานต์ จึงกำหนดจัดงาน  INTERNATIONAL AMAZING SPLASH 2023 ซึ่งจะนำเทศกาลที่เป็นที่รู้จักระดับโลกมาร่วมจัดแสดงควบคู่ไปกับงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน 2566 ณ บริเวณซอยจุฬาลงกรณ์ 5 (ถนนอุทยาน 100 ปี)

สำหรับกิจกรรมภายในงานแบ่งออกเป็น 4 ส่วนกิจกรรม ได้แก่

กิจกรรมที่ 1. ขบวนแห่สงกรานต์นานาชาติ สุดอลังการ INTERNATIONAL CARAVAN : พบขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์และวัฒนธรรมนานาชาติ ในวันที่ 13 เมษายน 2566 จาก 5 ประเทศ ได้แก่

  • ประเทศไทย พบกับขบวนแห่พระแก้วมรกตประดิษฐานบนรถบุษบก พร้อมขบวนรถนางสงกรานต์ กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ แสดงโดย “ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก”
  • ประเทศจีน พบกับขบวนสีสันความสุขของชาวสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในชุดแต่งกายวัฒนธรรมพื้นเมือง
  • ประเทศอินเดีย พบกับขบวนแห่ที่เต็มไปด้วยสีสันความสนุกในรูปแบบของเทศกาลโฮลี่ หรือการสาดสี พร้อมโชว์ในสไตล์​ Bollywood
  • ประเทศญี่ปุ่น – รถขบวนเซ็ตซึบุน จากประเทศญี่ปุ่น นำทีมด้วยจังหวะกลองสร้างความตื่นตัว พร้อมปีศาจ การโยนถั่ว และตกแต่งด้วยเสาโทริอิกับดอกซากุระ
  • ประเทศเกาหลี – ขบวนแห่บอนยองเกาหลี สื่อถึงความสดใสจากท้องทะเล สนุกสนานในแบบเฟสติวัลริมทะเล ของประเทศเกาหลี

สงกรานต์ 2566

กิจกรรมที่ 2. AMAZING SPLASH OF THE WORLD จำลองบรรยากาศประเพณีวัฒนธรรมของต่างประเทศที่มีความใกล้เคียงกับประเพณีสงกรานต์ประเทศไทย มานำเสนอเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้แก่

  • ประเทศไทย นำเสนอ “เทศกาลเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์” พบกับการนำเสนอเอกลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ของ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่านรูปแบบของการสาธิตผลิตภัณฑ์ จากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่เชื่อมโยงถึงประเพณี พร้อมเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม ทำลงมือทำ DIY ด้วยตนเอง

ประกอบด้วย ภาคเหนือ นำเสนอการทำตุง น้ำศักดิ์สิทธิ์/น้ำส้มป่อย สำหรับใช้ในพิธีรดน้ำดำหัววิถีล้านนา / ภาคกลาง นำเสนออาหารคาวหวานในช่วงงานเทศกาลสงกรานต์ อาทิ ข้าวแช่ /

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเสนอประเพณีผูกเสี่ยว ประเพณีเสียเคราะห์ (สะเดาะเคราะห์) /

ภาคตะวันออก นำเสนอพิธีก่อเจดีย์ทรายข้าวเปลือกของชาวไผ่ดำ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือพิธีก่อเจดีย์ทราย จังหวัดชลบุรี เป็นต้น

และภาคใต้ นำเสนอประเพณีแห่นางดาน จังหวันครศรีธรรมราช ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย กิจกรรมสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่นและ DIY รวมทั้งกิจกรรมการสรงน้ำพระและก่อเจดีย์ทราย การแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย

สงกรานต์ 2566

  • เกาหลีใต้ นำเสนอ “เทศกาลโคลนจากเมืองโพเรียง” พบกับสระโคลนที่ได้นำเข้าโคลนมาจากเมืองโพเรียง ประเทศเกาหลีใต้ โดยจะมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การลงแช่โคลน, การทาโคลนทั่วตัว, การแข่งเกมชิงรางวัลกลาง สระโคลน พร้อมบรรยากาศที่เร้าใจจากดีเจจากประเทศเกาหลี
  • อินเดีย นำเสนอ “เทศกาลโฮลี” สนุกสนานตามประเพณีของอินเดียที่ใช้ผงสีแสดงถึงมิตรภาพ พร้อมการแสดงดนตรี การเต้นของสาวอินเดียในสไตล์ Bollywood  นอกจากนี้ ยังมีจุดให้ผู้ร่วมงานได้เข้าสักการะพระพิฆเนศอีกด้วย
  • จีน นำเสนอ “เทศกาลสงกรานต์สิบสองปันนา” พบกับการนำเสนอเครื่องแต่งกายตามประเพณีของชาวไทลื้อ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และการแสดงเชิงวัฒนธรรมฟ้อนรำ เพื่อทำพิธีขอน้ำ ขอฝน จากเทวดา ฟ้าดิน
  • ญี่ปุ่น นำเสนอ “เทศกาล เซ็ตซึบุน” เทศกาลแห่งการเป่าสิ่งชั่วร้าย และเสริมสิริมงคล ด้วยการโปรยถั่วใส่ยักษ์ เพื่อเป็นการขอให้สุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัย

กิจกรรมที่ 3. MAIN STAGE เพิ่มบรรยากาศแห่งความสนุกแบบ NON-STOP ไปกับกิจกรรม SPLASH ความสนุกบนเวที พบกับศิลปินนักร้องดีเจชาวไทย และชาวต่างชาติ เช่น ศิลปิน โจอี้บอย, อ๊อฟ ปองศักดิ์, วง LAZ1, วง No One Else, ซานิ, วง Yes Indeed, ดีเจจากประเทศเกาหลี อินเดีย ญี่ปุ่น และจีน การแสดงวัฒนธรรมนานาชาติมากมาย พร้อมจัดเต็มด้วย WATERBOMB และอุโมงค์น้ำ สุดสนุกตลอด 3 วันจัดงาน

และกิจกรรมที่ 4. AMAZING FOOD ยกกองทัพเสบียงบูธอาหาร และ Food Truck เติมความอร่อยแบบนานาชาติ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และไทย รวมกว่า 30 ร้านค้า

สงกรานต์ 2566

ระบุพิกัด งานสงกรานต์ 2566 ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ททท. ยังสนับสนุนการจัดกิจกรรมสงกรานต์ในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ งาน Water Festival 2023 เทศกาลวิถีน้ำ…วิถีไทย 2566 ระหว่างวันที่ 13 – 16 เมษายน 2566 ซึ่งจะจัดงานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนี้

  • กรุงเทพมหานคร ได้แก่ วัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ท่ามหาราช ท่ายอดพิมาน เดอะล้ง 1919 สุขสยาม แอท ไอคอนสยาม เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ และท่าศาลเจ้ากวนอู
  • บ้านโบราณ 100 ปี จังหวัดเชียงใหม่
  • ถนนอินทยงยศ จังหวัดลำพูน
  • ลานวัฒนธรรมมรดกโลกบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
  • วัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่น
  • วัดไม้ขาว และบริเวณแยกชาร์เตอร์ (เมืองเก่าภูเก็ต) จังหวัดภูเก็ต
  • งานไอคอนสยาม มหัศจรรย์เจ้าพระยา มหาสงกรานต์ 2566 วันที่ 11 – 17 เมษายน 2566 ณ ไอคอนสยาม กทม.
  • งาน Andamanda Songkran Festival วันที่ 14 เมษายน 2566 สวนน้ำอันดา มันดา จังหวัดภูเก็ต
  • GCIRCUIT SONG KRAN THE BIG BANG 2023 วันที่ 13 – 16 เมษายน 2566 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด กทม./ S2O Songkran Music Festival วันที่ 13 -15 เมษายน 2566 ณ ไลฟ์พาร์ค พระราม 9 กทม.
  • งานประเพณีสงกรานต์ “บ้านกรูด…ฟีลกู๊ดด 2023” วันที่ 14 – 15 เมษายน 2566 อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  • “สงกรานต์สยาม ผ้าขาวม้าปล่อยจอย” วันที่ 13 – 15 เมษายน 2566 ณ สยามสแควร์ กทม.
  • งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2566 วันที่ 21 – 23 เมษายน 2566 ณ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

สงกรานต์ 2566

ทั้งนี้ เทศกาลสงกรานต์ 2566 ยังมีการจัดในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย อาทิ

ภาคเหนือ – ประเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ วันที่ 13 – 16 เมษายน 2566 ณ เขตเทศกาลนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ประเพณีสรงน้ำโอยทาน สงกรานต์ ศรีสัชนาลัย วันที่ 8 – 12 เมษายน 2566 ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระยาลิไท และ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย  สรงน้ำพระ ประเพณีสงกรานต์ อำเภอปาย วันที่ 13 เมษายน 2566 ที่ว่าการอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – งานสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูน เสียงแคน และถนนข้าวเหนียว วันที่ 8 – 15 เมษายน 2566 ณ บริเวณบึงแก่นนคร และถนนศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น

ภาคตะวันออก – ประเพณี ก่อพระทราย วันไหลบางแสน วันที่ 16 – 21 เมษายน 2566 ณ ชายหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี

ภาคกลาง – งานประเพณีสงกรานต์มอญสังขละบุรี วันที่ 13 – 17 เมษายน 2566 ณ วัดวังก์วิเวการามและเจดีย์พุทธคยาจำลอง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ไท-ยวน วันที่ 13 – 15 เมษายน 2566 ณ วัดโขลงสุวรรณคีรี และกาดวิถีชุมชนคูบัว จ.ราชบุรี

ภาคใต้ – หาดใหญ่ มิดไนท์ สงกรานต์ วันที่ 12 – 13 เมษายน 2566 ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2-3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา งานเทศกาลมหาสงกรานต์แห่นางดานเมืองนคร วันที่ 11 – 15 เมษายน 2566 ณ สวนสาธารณะศรีธรรมโศกราช และตลาดริมน้ำเมืองลิกอร์ สนามหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

MG 8054 1 11zon

โดยตลอดระยะเวลาการจัดงาน ททท. บูรณาการความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ในการออกมาตรการพิเศษ เพื่อดูแลความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติที่เข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสีขาว ตามนโยบายของกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา

นำสู่การบรรลุเป้าหมายในการตอกย้ำสร้างความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวของประเทศไทย ด้านความมั่นคงและความปลอดภัย (Safety and Security) แก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Amazing Thailand หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1672 Travel Buddy

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo