Business

ไทยเนื้อหอม ‘GAC AION’ ยักษ์ใหญ่จีน เล็งปักหมุดลงทุน 6.4 พันล้าน สร้างโรงงานผลิต ‘รถยนต์ EV’

ไทยเนื้อหอม “GAC AION” ยักษ์ใหญ่จีน เล็งปักหมุดลงทุน 6.4 พันล้าน สร้างโรงงานผลิต “รถยนต์ EV” ใน EEC ตอกย้ำ ฮับอาเซียน

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับนายเซียว หยง (Mr.Xiao Yong) รองประธานบริษัท GAC AION New Energy Automobile Company Limited (GAC AION) พร้อมคณะผู้บริหารบริษัท GAC AION ซึ่งเป็น บริษัท ย่อยของรถยนต์ไฟฟ้าของ GAC Group (Guangzhou Automotive Group) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน

โดยระบุว่า GAC AION ให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลไทยสนับสนุนโครงการรถยนต์อีวี และอุตสาหกรรมยานยนต์มาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เฉพาะแต่เรื่องของการทำการตลาดเท่านั้น

รถยนต์ EV

GAC AION สนใจลงทุนผลิตรถยนต์ EV ในไทย

แต่ยังส่งเสริมและสนับสนุนในเชิงนโยบายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ผ่านทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ อีกทั้งในแง่ของมาตรฐานต่าง ๆ โดยไทยเสมือนเป็นผู้กำหนดทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ EV ในอาเซียนมาโดยตลอด

ดังนั้น หากทาง GAC AION เข้ามาลงทุน จะทำให้ประเทศไทยเพิ่มศักยภาพ การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในระดับอาเซียน และเกิดการยอมรับไปทั่วโลกมากยิ่งขึ้น

การทำงานของบริษัท GAC AION นับว่าเติบโตเร็วมาก โดยใช้เวลาเพียง 5 ปี ก็สามารถก้าวขึ้นเป็น Top 3 ของตลาดรถยนต์อีวี ในประเทศจีนแล้ว จึงนับเป็นเครื่องการันตีได้ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์อีวี มีลู่ทางที่สดใส ซึ่งอาจไม่ใช่แค่เพียงรถยนต์อีวีเท่านั้น ยังรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการผลิตแบตเตอรี่ หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น

รถยนต์ EV

ไทยรองรับการเป็นห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันในเรื่องของมาตรฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในการทดสอบ ก็ได้แจ้งกับทาง GAC AION ไปแล้วว่า ประเทศไทยมีศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center–ATTRIC) และยินดีหากทาง GAC AION จะนำรถยนต์เข้ามาทดสอบมาตรฐานหรือทำ R&D ในไทย ก็สามารถดำเนินการได้

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการลงทุนของบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำระดับโลกถึง 17 แห่ง จาก 20 แห่ง โดยกระจายอยู่ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดปทุมธานี ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร อาทิ BOSCH , DENSO , SUMITOMO YAZAKI , FAURECIA เป็นต้น ทำให้สามารถรองรับการเป็นห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ได้เป็นอย่างดี

รวมถึงมีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC กว่า 40 แห่ง ซึ่งมีระบบการกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานระดับสากล แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและความเชื่อมั่นของประเทศเป็นอย่างยิ่ง

รถยนต์ EV

ปักหมุดลงทุนเบื้องต้น 6.4 พันล้าน ตั้งเป้าผลิต 1 แสนคันต่อปี

ด้าน นายเซียว หยง รองประธานบริษัท GAC AION กล่าวว่า เบื้องต้นได้เตรียมการที่จะมาลงทุนในไทย 100% แต่หลังจากที่ได้ไปหารือกับหลายหน่วยงาน อาทิ EEC และ BOI ก็ทำให้เกิดแนวคิดการหาผู้ร่วมลงทุน โดยในการลงทุนจะเป็น GAC AION ถือครองสัดส่วนในจำนวนที่มากกว่า และตั้งเป้าผลิตรถยนต์ EV ในไทยให้ได้ 100,000 คันต่อปี

นอกจากการตั้งโรงงานการผลิตรถยนต์ EV แล้ว ยังขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการผลิตแบตเตอรี่ด้วย

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนในประเทศไทยของ GAC AION เบื้องต้น อยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านหยวน หรือ ประมาณ 6,400 ล้านบาท

รถยนต์ EV

ปัจจุบันบริษัท AION ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระบบอัตโนมัติ การผลิตเทคโนโลยี Robot และอุตสาหกรรมการบินและการคมนาคมอื่น ๆ ที่ไม่เฉพาะแต่รถยนต์ EV เท่านั้น แต่จะขยายไปยัง Eco System ในด้านอื่น ๆ ด้วย โดย AION มีความต้องการใช้พื้นที่ในการตั้งโรงงานประมาณ 500 ไร่ แต่ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ระบบการขนส่งโลจิสติกส์ และระบบการดำเนินการอื่น ๆ แล้ว อาจต้องใช้พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่

อย่างไรก็ตาม การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มากกว่า 500 – 1,000 ไร่ และนักลงทุนเป็นชาวต่างชาติ มีความเป็นไปได้ว่าต้องตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรม จึงจะได้รับสิทธิในการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ BOI ให้การส่งเสริมอยู่

รถยนต์ EV

บริษัท GAC AION ก่อตั้งขึ้นตาม GAC Motor New Energy Branch โดยโรงงานแห่งแรกของ AION ได้เริ่มการผลิตในเดือนเมษายน 2562 และในปี 2565 มียอดขายรถยนต์ EV ถึง 2.5 ล้านคัน มูลค่ากว่า 5 แสนล้านหยวน ทำให้บริษัทฯ ติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศจีน ที่มียอดการจำหน่ายรถยนต์ EV สูงที่สุด และเป็นอันดับที่ 186 ของโลก จากการจัดอันดับของฟอร์จูน โกลบอล 500 (FORTUNE Global 500) ของบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลกจากการประเมินรายได้

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2565 ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) มีการผลิตรถยนต์ จำนวน 1,883,515 คัน การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ 849,388 คัน มีการส่งออกรถยนต์ จำนวน 1,000,256 คัน และมียอดจดทะเบียน ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) อยู่ที่ 20,816 คัน เติบโตขึ้นถึง 260% จากปี 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo