Business

กระหึ่ม!!ดันตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติคุม ‘เอราวัณ-บงกช’

กำหนดเวลา 01

สอท.ห่วงเวลาแค่ 3 ปีสั้นมาก สำรวจ-ขุดเจาะ แหล่งก๊าซฯ เอราวัณ-บงกช  ลั่นประมูลล่าช้าก๊าซฯ หาย 50% กระทบผลิตไฟฟ้า ดันค่าเอฟทีพุ่ง 18 สตางค์/หน่วย  เตือนประชาชน-ภาคธุรกิจ รับมือค่าไฟเพิ่ม ขณะ 2 กลุ่มจับมือดันใช้ ‘บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ’หวังคุม 2 แหล่งก๊าซฯ ยึดต้นแบบ ‘ปิโตรนาส’ ของมาเลเซีย

หลังจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เตรียมความพร้อมดำเนินการเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 พื้นที่ประมาณ 4,501 ตารางกิโลเมตร และ G2/61 พื้นที่ประมาณ 3,247 ตารางกิโลเมตร ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514  ขณะนี้มีผู้สนใจยื่นความจำนงในการเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น  6 ราย

การเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติซึ่งกำลังจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 (แหล่งเอราวัณและบงกช) การเปิดประมูลรอบนี้ใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยภาครัฐคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ที่ชนะการประมูลได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ระยะเวลาที่กำหนดไว้ว่าจะสามารถหาผู้ชนะการประมูลแหล่งก๊าซได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงและสร้างความไม่มั่นใจต่อภาคเอกชนในขณะนี้

คุณบวร

สอท.ห่วงประมูลบงกช-เอาราวัณล่าช้า

อย่างนายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ออกมาระบุว่า การประมูลก๊าซฯเอราวัณและบงกช ถือว่าล่าช้าไปมาก ภาครัฐทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ เพราะเดิมประกาศว่าจะประมูลเสร็จปี 2559 แต่ล่าสุดดูเหมือนจะได้ผู้ชนะ และลงนามในสัญญาในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไม่เชื่ออีกว่าจะเสร็จทันตามที่กำหนดไว้ อาจจะมีผู้คัดค้านจนนำไปสู่การเลื่อนเวลาอออกไป

นายบวร  เชื่อว่าหากการประมูลก๊าซฯ เอราวัณและบงกช ต้องล่าช้าออกไปอีก จะเกิดผลกระทบทันที ทำให้ก๊าซหายไปครึ่งหนึ่งของการผลิตไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 2 แหล่งขณะนี้ผลิตก๊าซได้ประมาณ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่บ้านเราตอนนี้ใช้ก๊าซอยู่วันละประมาณ 4,900 ล้านลูกบาศก์ฟุต  ซึ่งเยอะมาก เท่ากับโรงไฟฟ้าหายไป 10โรง

“ผมไม่อยากให้มีการเลื่อนเปิดประมูลเกิดขึ้น เพราะมันจะสร้างผลกระทบเกิดขึ้นทันที ซึ่งจะทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นประมาณ 18 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นภาระกับประชาชนที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่ม เพราะค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันโรงงานอุตสาหกรรมก็จะยิ่งได้รับผลกระทบหนักกับค่าไฟที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยกับต่างชาติก็แย่อยู่แล้ว” นายบวร ระบุ

เผยช้ากว่าแผนแล้วถึง 2 ปี 

นายบวร  ย้ำว่าจริงๆแล้วมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อปี 2559 ตอนนั้นนายกรัฐมนตรีก็นั่งหัวโต๊ะ บอกว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดการประมูลให้เสร็จภายใน 1 ปี นั่นก็คือปี 2560 ทำให้แหล่งก๊าซฯทั้ง 2 แหล่ง มีคนสามารถทำงานได้ภายในปี 2560

ผลปรากฎเกิดปัญหาตามมามากมาย ต้องมีการเปลี่ยนระบบจากการเปิดประมูลสัมปทานมาเป็นการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตแทน  แต่ดูเหมือนกว่าจะได้เอกชนทำงานก็ประมาณต้นปี 2562  ขณะที่สัญญาสัมปทานก็จะสิ้นสุดในปี2565 ดังนั้นเหลือเวลาแค่ 3 ปี

เอราวัณ

ห่วงขุดเจาะชี้ 3 ปี สั้นมาก 

“ผมกำลังจะบอกว่าเวลาแค่ 3 ปี มันสั้นมาก ถ้าขุดเจาะแล้วเจอก็โชคดี แต่ถ้าขุดเจาะแล้วไม่เจอช่วง 3 ปี ก็จะแย่หนัก เพราะตามหลัก จะต้องมีการเจาะหลุมสำรวจก่อน เสร็จแล้วก็ต้องเจาะหลุมประเมิน ถ้าเกิดเจอหลุมหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า จะเจอแถวนั้นทั้งหมด ต้องเจาะอีกหลายหลุม แล้วประเมินได้ว่าควรจะผลิตตรงนี้ ซึ่งปกติต้องใช้เวลา 5 ปี แต่ตอนนี้เหลือเวลา 3 ปี ถ้าขุดเจาะตรงไหนเจอตรงนั้นก็ถือว่าโชคดี แต่ไม่เชื่อว่าใครจะโชคดีอย่างนี้ ” นายบวร กล่าว และว่า เวลา 3 ปี สั้นมาก โอกาสที่จะหลุดมีเยอะมาก ขอร้องอย่าเลื่อนอีกเลย ในอดีตก็เลื่อนมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่เหลือแค่ 3 ปี ทางแก้คือบริษัทรายเดิมได้ไป เพราะเขามีข้อมูลสามารถดำเนินการได้เลย หรือบริษััทใหม่ได้ แต่ใช้คนเดิม จ้างคนไทยทำงานหรือจ้างกลุ่มเดิม ภายใต้ที่ว่าขุดเจาะแล้วเจอก๊าซฯ

แต่ส่วนที่ว่ากลุ่มไหนได้ก็ตามจะต้องขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่เสนอให้กับรัฐด้วยว่าเป็นอย่างไร

 วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี 700x466 1

ฝันอีกไกล4ขั้นตอนก่อนได้ผู้ชนะ 

ทั้งนี้ ตามขึ้นตอนเปิดประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ออกประกาศโดยกำหนดขั้นตอนและการประมูล 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. การออกประกาศเชิญชวน  พิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification Evaluation) ขณะนี้มีผู้สนใจยื่นความจำนงในการเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น  6 รายต้องยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้น ในวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2561 จากนั้นจะแจ้งผลการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561

2. การเข้าถึงและการศึกษาข้อมูล ผู้เข้าร่วมประมูลที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว  สามารถยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงในการเข้าถึงข้อมูล ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2561

จากนั้นสามารถเข้าศึกษาข้อมูลในพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน – 21 กันยายน 2561

3. การยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ผู้เข้าร่วมประมูลต้องยื่นคำขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พร้อมเอกสารแสดงคุณสมบัติที่กำหนดไว้ รวมทั้งแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐที่จัดทำตามเงื่อนไข ทีโออาร์ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  ในวันที่ 25 กันยายน 2561

4. การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะพิจารณาเอกสาร หลักฐาน ข้อเสนอด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐของผู้เข้าร่วมประมูลตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

แท่น1

หึ่งจ่อตั้งบรรษัทน้ำมันคุมเอราวัณ-บงกช 

ขณะที่แหล่งข่าวจากส.อ.ท. กล่าวว่ารู้สึกกังวลกับการเปิดประมูลแหล่งก๊าซฯ ทั้งเอราวัณ และบงกช เกรงว่าจากนี้ไปจะมีการเคลื่อนไหวที่จะทำให้โครงการนี้ล่าช้าออกไปอีก

เมื่อถึงจุดหนึ่ง อาจจะมีกลุ่มคนออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับการใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ทำไมไม่ใช้สัญญาจ้างผลิต แต่สัญญาจ้างผลิตรัฐจะต้องเป็นผู้ออกเงินเองทั้งหมด และเกรงว่าจะมีเหตุทำให้เรื่องนี้ล่าช้าอีก สุดท้ายอาจจะนำไปสู่การตั้ง”บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”ขึ้น

แหล่งข่าว กล่าวว่าขณะนี้เริ่มมีการพยายามดึงไปสู่การตั้ง”บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ในหลักความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็น เพราะขณะนี้ประเทศไทยก็มี 3 ระดับที่ช่วยคานกันอยู่แล้ว คือระดับนโยบาย  ระดับหน่วยงานกำกับ และระดับปฎิบัติ ซึ่งมีการคานอำนาจกันอยู่แล้ว  ใครกำหนดนโยบายใครดำเนินการตามนโยบาย

ปูด 2 กลุ่มหนุนตั้งบรรษัทน้ำมัน

“ตอนนี้เริ่มมีสัญญาณจากกลุ่มคน 2 กลุ่ม ที่อยากให้เกิดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้น หากมีตรงนี้เกิดขึ้นจริงกลุ่มคนทั้ง 2 กลุ่มสามารถที่จะเข้ามาบริหารได้ บรรษัทนำ้มันแห่งชาติที่ว่านี้ก็จะคล้ายๆกับ ปิโตรนาส ของมาเลเซีย ที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ”

ดังนั้นการที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานออกมาระบุว่า ทุกอย่างจะแล้วเสร็จ หาผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แหล่งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562  เกรงว่าจะทำไม่ได้จริง

เมื่อถึงตอนนั้นอาจจะมีกลุ่มออกมาเรียกร้องเรื่องต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาชะงักตามมา และเชื่อว่าจะมีหลายปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเลื่อนประมูลออกไปได้

อย่างเช่นอาจจะมีการฟ้องร้องกันเรื่องทีโออาร์ที่กำหนดออกมา อาจมีการกล่าวหาว่าเอนเอียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเมื่อมีกลุ่มใดที่ได้ก็จะมีการร้องว่าไม่ได้คุณภาพ

ทุกอย่างสามารถทำให้เกิดความล่าช้าได้ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight