Business

เปิดธุรกิจแสงสว่าง คาดเทรนด์ IoT ดันตลาดทะลุ 26,000 ล้านบาท

Philips Hue 13

นับตั้งแต่ต้นปี หนึ่งในเทรนด์ที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ไม่สามารถละสายตาได้คือการมาถึงของเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในหลายภาคส่วน รวมถึงมีแนวโน้มว่าจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันด้วย

โดยอาจกล่าวได้ว่า ในประเทศผู้นำอย่างสหรัฐอเมริกานั้น การใช้งานอุปกรณ์ IoT และการเติบโตอาจพิจารณาจากมากไปหาน้อยดังนี้

  • กลุ่มด้านการควบคุมและการเชื่อมต่อ
  • กลุ่มอุปกรณ์เพื่อความสะดวกสบายและแสงสว่าง
  • กลุ่มอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย
  • กลุ่มระบบความบันเทิงภายในบ้าน
  • กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ
  • กลุ่มเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการพลังงาน

Philips Hue launched in Thailand 7 e1520962838372

ทั้งนี้ กลุ่มด้านการควบคุมและการเชื่อมต่อนั้นคาดว่าจะมีการใช้งานในครัวเรือนมากถึง 56.7% ภายในปี 2565 (อ้างอิงจากผลการสำรวจของ Statista เมื่อเดือนตุลาคม 2560) และหากวิเคราะห์ลงไปในกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านสมาร์ทโฮม พบว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์แสงสว่างมีแนวโน้มว่าจะเติบโตสูงถึง 13% ต่อปี โดยตลาดที่มีมูลค่าสูงสุดนั้นคืออเมริกาเหนือ ตามมาด้วยยุโรป เอเชียแปซิฟิก ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ทั้งนี้ คาดว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่เติบโตด้วยอัตราที่รวดเร็วที่สุดคือ 26% (อ้างอิงจาก Navigant Research) ด้วย

Philips Hue launched in Thailand 8

ปัจจัยที่เสริมให้ผลิตภัณฑ์ด้านแสงสว่างเติบโตสูงคือการมาถึงของลำโพงอัจฉริยะ ซึ่งในสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจของ Gallup และมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น พบว่า 20% ของชาวอเมริกันมีการใช้งานลำโพงอัจฉริยะในบ้าน และจากการคาดการณ์ของฟอร์เรสเตอร์ คาดว่าในปี 2565 จะมีครอบครัวที่มีลำโพงอัจฉริยะใช้งานในบ้านเพิ่มขึ้นเป็น 66.3 ล้านครอบครัว (ตัวเลขของปี 2560 อยู่ที่ 15.3 ล้านครอบครัว) เมื่อมีอุปกรณ์ที่จะใช้ในการควบคุมที่ดี โอกาสในการซื้ออุปกรณ์สมาร์ทโฮมอื่น ๆ เข้ามาติดตั้งในบ้านจึงมากขึ้นนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย นายเฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นอีกหนึ่งผู้บริหารที่เผยว่า ปี 2561 เป็นปีที่เหมาะสำหรับการนำเทคโนโลยี IoT ด้านแสงสว่างเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นปีที่พบว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปมากขึ้น และมีการใช้แสงสว่างเพื่อประโยชน์ด้านอื่นมากขึ้นนอกเหนือจากความสว่างเพียงอย่างเดียว

Philips Hue 3

“เราพบว่าพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ต้องการให้หลอดไฟเป็นมากกว่าอุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น ต้องการให้แสงไฟเป็นเครื่องมือช่วยสร้างอารมณ์ – ความรู้สึกมากขึ้น หรือช่วยส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การดูภาพยนตร์ – การเล่นเกมทำได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้น”

นอกจากนั้น จากการสำรวจของฟิลิปส์พบว่า ความต้องการในการใช้งานอุปกรณ์ IoT ด้านแสงสว่างของผู้บริโภคมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น

  • สามารถตั้งเวลาได้
  • สามารถแสดงผลสีได้หลากหลาย
  • สามารถใช้ในการจับเวลาได้
  • สามารถสร้างบรรยากาศในบ้านได้
  • สามารถควบคุมได้ทั้งจากภายในบ้านและจากระยะไกล
  • สามารถใช้เพิ่มอรรถรสด้านความบันเทิงได้
  • รองรับการมาถึงของลำโพงอัจฉริยะยี่ห้อต่าง ๆ ได้
  • มีความปลอดภัยในการใช้งาน ไม่ถูกเจาะระบบได้โดยง่าย

จากภาพของความต้องการดังกล่าวเห็นได้ว่า ผู้บริโภคมองบริการในรูปแบบของแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ รวมถึงมีการรักษาความปลอดภัยที่มากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ตลาดอุปกรณ์ IoT ด้านแสงสว่างยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ตลาดแมสแต่อย่างใด ซึ่งในจุดนี้จะเห็นได้จากการทำตลาดของฟิลิปส์ในอุปกรณ์กลุ่ม Hue ที่เลือกจำหน่ายผ่านร้านขายสินค้าไอทีอย่าง iStudio, Studio7 เป็นครั้งแรก นอกเหนือจากร้านสินค้าตกแต่งบ้านอย่างบุญถาวร และ Life รวมถึงมีการจำหน่ายผ่าน Lazada.co.th ด้วย โดยนายเฉลิมพงษ์ให้ทัศนะว่า กลุ่มคนที่เดินร้านสินค้าไอทีเป็นกลุ่ม Early Adopter โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มวางตลาดเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่ามีการตอบรับที่ดี และทำให้บริษัทมีแผนจะขยายไปยังสาขาอื่น ๆ ตามแผนที่ตั้งไว้ที่ 22 สาขา ส่วนช่องทางอีคอมเมิร์ซนั้นเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ได้ จึงเลือกทำตลาดผ่านออนไลน์ด้วยอีกช่องทางหนึ่งนั่นเอง

โดยการเติบโตของตลาดแสงสว่างในประเทศไทยนี้ คาดว่าจะในปี 2561 จะโตเพิ่มขึ้น 2.7% คิดเป็นมูลค่า 26,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

 

Avatar photo