Business

ไฟเขียวตั้งนิคมอุตสาหกรรม ‘EEC-ลำพูน’ รวมกว่า 6,000 ล้าน ดึงนักลงทุนนอก

ครม. อนุมัติลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และจังหวัดลำพูน มูลค่าลงทุน 2 โครงการกว่า 6,000 ล้านบาท มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ว่า ครม. เห็นชอบการลงทุนจัดซื้อที่ดิน โครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจังหวัดลำพูน รวม 2 โครงการ ดังนี้

ตั้งนิคมอุตสาหกรรม

1. โครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,385 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากรายได้ และเงินสะสมของ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทั้งหมด

โครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลสำนักทอง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม มีเนื้อที่ประมาณ 1,482 ไร่ มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ รีไซเคิลกากอุตสาหกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ เป็นผู้ประกอบการญี่ปุ่น คาดว่าพื้นที่จะถูกขายหรือให้เช่าหมดภายใน 5 ปี หลังก่อสร้างเสร็จ

ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 13,920 คน และเกิดผลผลิตรวมให้กับประเทศในสาขาต่าง ๆ มากถึง 1,542.34 ล้านบาท

รัชดา 4

2. โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดลำพูน มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,160 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากรายได้ และเงินสะสมของ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ทั้งหมด

โครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลมะเขือแจ้ และตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมทั่วไป ที่ไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและคลังสินค้า มีเนื้อที่ประมาณ 653 ไร่ และที่ดินถนนทางเข้าประมาณ 25 ไร่ มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม แปรรูปอาหาร และ Bio Technology

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ เป็นผู้ประกอบการญี่ปุ่นเช่นกัน คาดว่าพื้นที่จะถูกขายหรือให้เช่าหมดภายใน 5 ปี หลังก่อสร้างเสร็จ

ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 8,415 คน และเกิดผลผลิตรวมให้กับประเทสในสาขาต่าง ๆ มากถึง 277.85 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ควรมีแผนรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถซื้อที่ดินจากเอกชนได้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ อาจพิจารณาทบทวนรูปแบบการลงทุนใหม่ โดยเปรียบเทียบความคุ้มค่า ระหว่างการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ กับการพัฒนาขยายพื้นที่ในนิคมอตุสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เดิมได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo