Business

เปิดพฤติกรรมคนไทยใช้ ‘พร้อมเพย์’ 5 ปีลงทะเบียน 66.94 ล้านเลขหมาย โอนเงินสูงสุด

NITMX เผยยอดใช้ “พร้อมเพย์” ปี 2565 พุ่งสูงกว่า 13,705 ล้านรายการ ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่เปิดให้บริการ เผยสถิติ 5 ปี มีผู้ลงทะเบียน 66.94 ล้านเลขหมาย ใช้โอนเงินสูงสุด

บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หรือ NITMX ผู้พัฒนาและให้บริการระบบการชำระเงิน และการโอนเงินระหว่างธนาคารของประเทศไทย เปิดเผยภาพรวมของการใช้งานระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่เปิดใช้บริการมา 5 ปี (เริ่มเปิดใช้บริการ PromptPay ปี 2560) ถือเป็นนวัตกรรมที่ทำให้การชำระเงินและโอนเงินสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ถึงมือผู้รับโดยตรง โปร่งใส และไม่มีค่าธรรมเนียม

พร้อมเพย์

จากสถิติล่าสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 มีจำนวนบุคคลธรรมดาผู้ลงทะเบียน PromptPay อยู่ที่ 66.94 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นการลงทะเบียนด้วยหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 39.47 ล้านเลขหมาย และลงทะเบียนด้วยหมายเลขโทรศัพท์ 27.47 ล้านเลขหมาย

นอกจากบุคคลธรรมดาแล้ว ยังมีนิติบุคคลที่ลงทะเบียน PromptPay จำนวน 2.43 แสนราย โดยพบว่า ในเดือนธันวาคม 2565 มีปริมาณการทำธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารผ่านระบบ PromptPay ทั้งสิ้น 1,475.9 ล้านรายการ ภาพรวมเพิ่มขึ้น 34.66% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา

ขณะที่ในวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2565 เป็นวันที่มีการทำธุรกรรมสูงถึง 58.08 ล้านรายการ เป็นสถิติสูงที่สุดตั้งแต่เปิดให้บริการมา สรุปยอดการทำธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินผ่าน PromptPay ตลอดทั้งปี 2565 รวมทั้งสิ้น 13,705 ล้านรายการ

พร้อมเพย์

การทำธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์

  • อันดับ 1 โอนเงินด้วยหมายเลขบัญชีธนาคาร จำนวน 68.8%
  • อันดับ 2 โอนเงินด้วยหมายเลขอ้างอิง จำนวน 16.3%
  • อันดับ 3 การชำระสินค้าด้วย QR Code และใบแจ้งหนี้ จำนวน 9.3%
  • อันดับ 4 การเติมเงิน e-Wallet 5.7%

ส่วนช่วงเวลาที่ประชาชนนิยมโอนเงินมากที่สุด คือ ช่วงเวลาพักเที่ยงและหลังเลิกงาน และวันทำงานจะมีการใช้งานมากกว่าวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์ อีกทั้งในช่วงสิ้นเดือนจะมีการทำธุรกรรมมากกว่าปกติ

ทั้งนี้ จากสถิติจะเห็นได้ว่าปริมาณการใช้งาน PromptPay ยังคงมีอัตราการเติบโต และทำสถิติใหม่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ PromptPay ก้าวไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่

3 63TheKnowledge PromptPay 1

1. การกำหนดให้เป็นโครงการระดับประเทศที่ภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดัน และกระตุ้นให้เกิดการใช้ digital payments อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย

2. การวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบที่เปิดกว้างและสามารถเชื่อมโยงกับระบบต่างๆ ได้

3. ความร่วมมือของผู้ให้บริการระบบ และบริการชำระเงินในการพัฒนาระบบ

4. การออกแบบบริการและนวัตกรรมต่อยอดต่าง ๆ ที่คำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้งาน

5. โครงสร้างค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก

6. การให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง และคุ้มครองผู้บริโภคของผู้ให้บริการ

อีกหนึ่งความสำเร็จของ PromptPay คือ การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนไทย ตอบรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย โอนเงิน ชำระเงิน จ่ายบิลต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo