Business

เส้นทาง Speed Boat ‘สุทธิชัย หยุ่น’ ฝ่าวิกฤติสื่อดั้งเดิมล่มสลาย

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปั่นป่วน (Disrupt) ทุกอุตสาหกรรม  “สื่อดั้งเดิม”  (traditional media) เป็นกลุ่มแรก ที่ถูกท้าทายจากโลกออนไลน์  สุ่มเสี่ยงต่อฐานะ “ล่มสลาย”

 

สุทธิชัย หยุ่น
สุทธิชัย หยุ่น

มุมมองของ “สุทธิชัย หยุ่น”  พนักงานหมายเลขหนึ่ง เครือเนชั่น และผู้ร่วมก่อตั้งนับจากวันที่   1 กรกฎาคม 2514  ถึงวันจบบทบาทพนักงานในวันที่ 1 มี.ค. 2561  รวม  47 ปี  เห็นสัญญาณการล่มสลายที่เกิดขึ้นในวงการสื่ออย่างรุนแรง ในช่วงที่ผ่านมา

ด้วยไม่สามารถสามารถควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้  เพราะการทำสื่อในยุคดั้งเดิม มีโครงสร้างบุคลากรและอุปกรณ์จำนวนมาก ตัวอย่างการเปิดสถานีทีวีในอดีต ต้องลงทุนอุปกรณ์ 500- 600 ล้านบาท รถถ่ายทอดสด  บุคลากรข่าวกว่า 100 คน  เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ ต้องมีโรงพิมพ์ สายส่ง ร้านค้าจำหน่าย

แต่เมื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัลรายได้ของสื่อดั้งเดิม ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป รายได้ที่ลดลง แต่ไม่มีใครกล้าเปลี่ยน

ปัญหารุนแรงในสื่อดั้งเดิม คือ ผู้นำที่มีหน้าที่ตัดสินใจ ไม่กล้าตัดสินใจ ในสิ่งที่ต้องตัดสินใจ

วัฒนธรรมการทำงานในสื่อดั้งเดิม ยังคงเป็นแบบไทยๆ  ที่ไม่มีคนกล้าพูดความจริงว่า “รายได้สื่อดั้งเดิมลดลงและต้องปรับตัวอย่างจริงจังอย่างไร”  เพราะหากยังทำแบบเดิมๆ ก็จะไปไม่รอด  ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ถาโถมอุตสาหกรรมสื่อทุกทิศทุกทาง

ช่วง 5 ปีก่อน สุทธิชัย เล่าว่าเขา เริ่มมองเห็นวิกฤติที่เกิดขึ้นกับสื่อดั้งเดิม เช่นเดียวกับ Mindset  ของคนสื่อดั้งเดิม ที่ยังคงทำงานรูปแบบเดิมๆ  การปรับเปลี่ยนสู่โลกออนไลน์ จึงเคลื่อนตัวได้ช้า ขณะที่คลื่นเทคโนโลยีถาโถมในทุกทิศทาง

ในช่วงเวลาจึงมองทางออก “ทฤษฎี Lifeboat  หรือ Speed boat  ที่จำเป็นต้องสละเรือเอี๊ยมจุ๊น” ที่มีรูรั่ว แบกสัมภาระหนักอึ้ง และต้องฝ่าพายุคลื่นลมแรงจากทุกทิศทาง  ที่อาจไม่สามารถฝ่าไปได้

แต่การโน้มน้าวคนทำงานสื่อดั้งเดิมในขณะนี้   ที่อยู่ใน  Comfort Zone  ด้วยการลงเรือเล็ก ไม่ว่าจะเป็นเรือชูชีพ หรือ สปีดโบ้ท  ให้ทุกคนที่มีความสามารถเลือกลงเรือเล็กหลายลำ  ลงเรือไปตามความถนัด  ด้วยเรือเล็กที่ปราดเปรียว เชื่อว่าจะมีเส้นทางผ่านคลื่นลมแรงไปได้  เพื่อให้เรือทุกลำที่อยู่รอดไปแสดงหาโอกาสข้างหน้า

และไปพบกันอีกครั้ง ที่ “จุดนัดหมาย” ปลายทางข้างหน้า  แน่นอนว่า เรือเล็กอาจจะฝ่าคลื่นลมแรงไปได้ไม่หมด!!  แต่เชื่อว่ายังเหลือรอด  มากกว่าการฝ่าวิกฤติ ด้วยโครงสร้างเดิม ที่ไม่ปรับเปลี่ยน

เมื่อสิ่งที่ยาก คือ Mindset ของคนทำงานในยุคสื่อดั้งเดิม จึงทำให้นับตั้งแต่ วันที่ 1 มี.ค.2561 เป็นต้นมา “คนบ้าข่าว” อย่าง สุทธิชัย หยุ่น  จึงเลือกเดินในทางสายใหม่ในโลกออนไลน์อย่างเต็มตัว หลังพ้นสภาพ พนักงานหมายเลขหนึ่ง เครือเนชั่น  และอำลาคอลัมน์ “กาแฟดำ”  ทางสื่อหนังสื่อพิมพ์ วันสุดท้าย  28 ก.พ.2561

หลังจากนี้  “กาแฟดำ” ก้าวสู่แพลตฟอร์ม ออนไลน์  ทางเฟซบุ๊คเพจ Suthichai Yoon  ในนาม “กาแฟดำ ออนไลน์” ในวันที่ 2 มี.ค.2561   

yoon2

พร้อมเจตจำนงการทำงานหลากหลาย ทั้ง Suthichai Live , Forum , Academy , Media Lab , On Stage , Podcast   ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานผ่าน สื่อออนไลน์ โซเชียล มีเดีย และอคาเดมี เพื่อสร้างคนข่าวพันธุ์ดิจิทัล  ที่ไม่ตกเป็นทาสของการทำงานข่าวแบบเดิมๆ

ผมเป็นหนึ่งในคนที่เลือกนั่ง Lifeboat  ออกมา  โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์เดิมๆ วันนี้ ผมไม่ต้องใส่สูท ผูกไท ไปพบลูกค้า อีกต่อไป  แต่เป็นคนทำสื่อ ได้ทุกที่ทุกเวลา  ผ่านเนื้อหาหลากหลาย

วันนี้ จึงเห็น ลุคของคุณสุทธิชัย “คนบ้าข่าว”  วัย 72 ปี จึงมาแบบสบายๆ  เสื้อยืด สกรีนชื่อ Suthichai Live เสื้อเชิ้ต แว่นตาดำ หมวกแก็บ  สร้างสรรค์เนื้อหาข่าวผ่านสื่อโซเชียล  ทำงานแบบไม่มีออฟฟิศได้ในทุกสถานที่ ทุกเวลา

การก้าวเดินของ “คนบ้าข่าว” ในครั้งนี้  คุณสุทธิชัย  บอกว่า ความรู้สึกตื่นเต้นของการทำงานในโลกโซเชียล มีเดีย เต็มตัวในวันนี้  เกือบจะเหมือนกับความรู้สึก เมื่ออายุ 24 ปี ที่เปิดตัวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ครั้งแรก ทั้งหมดล้วนมาจาก  Passion  ที่ต้องการสร้างสรรค์คอนเทนท์ที่แตกต่าง”

จากการทำงานในช่วงเริ่มต้นหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น  ที่มีพนักงาน 10 คน เปิดออฟฟิศที่ตลาดน้อย  ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เมื่อตอนอายุ 24 ปี และ 72 ปี  ที่ยังรู้สึกตื่นเต้น เป็นสิ่งที่ถือว่าใช้ได้ เพราะว่ากำลังเริ่มอะไรใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้น

ผมยังมี Passion  ที่ต้องการสร้างสรรค์งานผ่านสื่อโซเชียล เขียนหลังสือ สร้างเนื้อหาผ่านช่องทางต่างๆ ความเศร้าของการจากลา สิ่งที่ผ่านมา ได้มาถ่วงดุลความตื่นเต้นในการทำสิ่งใหม่  และเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพ ที่จะทำได้ดีกว่าสิ่งที่ผ่านมา  

ทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการสื่อ มักเป็นสิ่งที่ดีขึ้นกว่าสิ่งที่ผ่านมาเสมอ ทั้งด้านเทคโนโลยี ประสิทธิภาพและต้นทุน  เชื่อว่าการ “ปรับตัว” ไปตามการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ทุกอุตสาหกรรมจะอยู่รอดได้!!

 

Avatar photo