Business

กรมการขนส่งทางบก ออกประกาศคุมมาตรฐานความปลอดภัย รถยนต์ไฟฟ้า เริ่ม 1 ม.ค. 66

กรมการขนส่งทางบก ออกประกาศยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์ไฟฟ้า ข้อกำหนดสหประชาชาติ เช็กรายละเอียดที่นี่

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก ได้เดินหน้ายกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของรถอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้การขนส่งทางถนนเป็นไปด้วยความปลอดภัย สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม

รถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ได้ออกประกาศ กรมการขนส่งทางบก กำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะระบบการทำงาน และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับรองส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน และมีมาตรฐานสอดคล้องตามข้อกำหนดสหประชาชาติ(UN Regulation) ซึ่งเป็นข้อกำหนดทางเทคนิคด้านยานยนต์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ที่ผ่านมา ได้ออกประกาศหลายฉบับ เช่น มาตรวัดความเร็ว อุปกรณ์มองภาพ กระจกนิรภัย แตรสัญญาณ จุดยึดเข็มขัดนิรภัย การติดตั้งเข็มขัดนิรภัย จุดยึดที่นั่งและพนักพิงศีรษะ ระบบห้ามล้อ ระดับเสียง เป็นต้น

สำหรับส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าว ต้องได้รับการรับรองแบบจากกรมการขนส่งทางบกก่อน จึงจะสามารถจดทะเบียน เพื่อใช้งานบนท้องถนนได้

ปัจจุบัน รถไฟฟ้า นับเป็นหนึ่งในรถพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกำลังได้รับ ความสนใจและเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยกรมการขนส่งทางบกและหลายหน่วยงาน ได้มีการกำหนดนโยบายสนับสนุน ส่งเสริม และจูงใจให้มีการใช้งานรถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เช่น มาตรการลดภาษีประจำปี มาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถไฟฟ้าในประเทศ เพิ่มสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า เป็นต้น

ขนส่ง 1

ดังนั้น เพื่อให้รถไฟฟ้ามีความปลอดภัยในการใช้งานและยกระดับมาตรฐานเกี่ยวกับรถไฟฟ้าให้สอดคล้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล กรมการขนส่งทางบก จึงได้ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก กำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับรองแบบเครื่องกำเนิดพลังงานที่ขับเคลื่อน ด้วยพลังงานไฟฟ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์

ประกาศดังกล่าว มีเนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไฟฟ้า ของตัวรถและแบตเตอรี่ เช่น การป้องกันการสัมผัสชิ้นส่วนที่มีไฟฟ้า ทั้งทางตรงและทางอ้อม การติดเครื่องหมายเตือน ในส่วนที่มีไฟฟ้าแรงดันสูง สายไฟฟ้าแรงดันสูง ต้องหุ้มด้วยฉนวนสีส้ม และความแข็งแรงของชุดแบตเตอรี่ เป็นต้น

ข้อกำหนดดังกล่าว ยังสอดคล้องตามข้อกำหนดสหประชาชาติที่ 100 ว่าด้วยคุณลักษณะ เฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้าของรถยนต์ (UN Regulation No. 100) และข้อกำหนดสหประชาชาติที่ 136 ว่าด้วยคุณลักษณะเฉพาะสำหรับระบบส่งกำลังด้วยไฟฟ้าของรถจักรยานยนต์(UN Regulation No. 136) โดยเริ่มมีผลใช้บังคับกับแบบรถใหม่ที่ผลิต ประกอบ หรือนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร

ในการจดทะเบียนรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ผู้ผลิต ประกอบ หรือนําเข้ารถยนต์นั่ง (ที่มีจำนวนที่นั่งไม่เกิน 9 ที่นั่ง) รถยนต์บรรทุก (ที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม) และรถจักรยานยนต์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ จำหน่าย หรือ ใช้เองเกินกว่าจำนวนที่กำหนด (3 คัน/แบบ/ปี สำหรับรถยนต์ และ 5 คัน/แบบ/ปี สำหรับรถจักรยานยนต์) ต้องขอรับรองแบบส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ ของรถกับกรมการขนส่งทางบกก่อน
จึงจะสามารถจดทะเบียนได้

ทั้งนี้ ผู้ผลิต ประกอบ หรือนําเข้ารถ ต้องจัดเตรียมเอกสารสำหรับยื่นขอรับรองแบบ เช่น เอกสารแสดงข้อมูลรายละเอียดรถ รายงานผลการทดสอบ และเอกสารแสดงการตรวจสอบการผลิตให้เป็นไปตามต้นแบบ รวมทั้ง เตรียมรถต้นแบบเพื่อเข้ารับการตรวจสอบ

สามารถยื่นขอรับรองแบบ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มมาตรฐานยานยนต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ อาคาร 6 ชั้น 3 กรมการขนส่งทางบก เบอร์ 0-2271-8603 หรือเว็บไซต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ http://www.dlt.go.th/site/aeb/

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo