Business

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โตชะลอตัว จับตา ‘e-marketplace’ จากดาวรุ่งกลายเป็นดาวร่วง ไม่ปรับไม่รอด!!

ส่องธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เคยร้อนแรง เริ่มเติบโตในอัตราที่ช้าลง หลังโควิด-19 คลี่คลาย ขณะที่ e-marketplace เจอศึกหนักหลายด้าน แบกขาดทุน เร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ตลาดอีคอมเมิร์ซ B2C มูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท ที่เคยเป็นดาวรุ่งในยุคโควิด-19 เริ่มเข้าสู่ขาลง หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย มาตรการผ่อนปรนที่ทำให้ผู้คนออกมาช้อปปิ้งสินค้าได้เหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ต้องปรับตัวขนานใหญ่

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของธุรกิจ e-marketplace ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะขาดทุน เช่น ช้อปปี้ ที่ขาดทุนสะสมเฉียด 5,000 ล้านบาท ขณที่ JD Central ขาดทุนกว่า 1,200 ล้านบาท ส่วน JD.com ขาดทุนสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท

e-marketplace ปรับโหมดลดลงทุน-มุ่งทำกำไร

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ในฐานะกูรูวงการอีคอมเมิร์ซ เปิดเผยว่า สงคราม e-marketplace กำลังจะจบลง เห็นได้จากการที่รายใหญ่อย่าง ลาซาด้า ช้อปปี้ เริ่มปรับยุทธศาสตร์ จากการเน้นลงทุนเพื่อสร้างการเติบโต มาเป็นการมุ่งสร้างกำไรอย่างชัดเจน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ลาซาด้า ที่เริ่มทำกำไร ในขณะที่ใช้เงินทำการตลาดน้อยลง โดยรายได้ทั้งหมดของกลุ่มลาซาด้าในปี 2565 อยู่ที่กว่า 3.8 หมื่นล้านบาท มีกำไรประมาณ 3,200 กว่าล้านบาท ซึ่งธุรกิจที่ทำกำไรหลักกลับเป็นบริการขนส่ง Lazada Express

จะเห็นได้ว่า ลาซาด้าไม่ได้โฟกัสเฉพาะธุรกิจ e-marketplace เท่านั้น หากแต่เน้นการเพิ่มรายได้จากส่วนอื่น ๆ เช่น การเก็บเงินจากลูกค้าเเละร้านค้าเพิ่มมากขึ้น การปรับเพิ่มค่าบริการ การขยายบริการ Lazada Pay เพื่อการชำระเงิน หรือบริการด้านดิจิทัลอื่น ๆ

shutterstock 1899359455

ในส่วนของช้อปปี้เอง ที่ยังขาดทุนสะสมต่อเนื่อง 7 ปีรวม ๆ เฉียด 5,000 ล้านบาท ก็เริ่มให้ความสำคัญกับธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ทำกำไร เช่น ช้อปปี้เอ็กซ์เพรส รวมทั้งเริ่มเห็นการปรับลดคน ลดงบการทำตลาด ไปจนถึงการปิดกิจการในประเทศที่ไม่ทำกำไร เป็นต้น

ขณะที่เบอร์ 3 อย่าง JD Central ล่าสุดยังขาดทุนประมาณ 1,200 กว่าล้านบาท อีกทั้งเริ่มมีกระแสข่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลได้ถอนตัวออกจาก JD.com รวมถึง JD ในประเทศไทยก็จะถอนตัวจากตลาดประเทศไทยและอินโดนีเซีย เพื่อลดภาระขาดทุนที่สูงถึง 5 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น e-marketplace ในปี 2566 นี้ จะได้เห็นภาพการแข่งขันถล่มราคาลดลง แต่จะเปลี่ยนเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจที่พร้อมขยายไปยังธุรกิจที่ทำกำไรได้มากกว่า อีกทั้งหากเซ็นทรัลถอนตัว จะทำให้ e-marketplace ไทย กลายเป็นสมรภูมิการเเข่งขันของต่างชาติเกือบ 100%

อีคอมเมิร์ซเติบโตในอัตราชะลอตัว

ฝั่งธุรกิจอีคอมเมิรซปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มูลค่าตลาด B2C E-Commerce ปี 2565 น่าจะมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง หลังจากที่เติบโตเร่งขึ้นมากด้วยอัตราเลขสองหลักในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ ภาพการเติบโตชะลอตัว จะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องไปในปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวราว 4-6% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 6–6.18 แสนล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้ที่เข้ามาใช้บริการอีคอมเมิร์ซรายใหม่ ๆ น่าจะเริ่มอิ่มตัว จากที่มีการเข้ามาใช้บริการจำนวนมากในช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง

shutterstock 1908264283 2 1

อีกทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภค ที่ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยกดดันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพหรือเงินเฟ้อ ส่งผลให้มองว่า การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซหลัก ๆ ไม่ได้เกิดจากค่าใช้จ่ายในภาพรวมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าจากหน้าร้าน (Physical store) มาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะสินค้ามีราคาถูกและคุ้มค่ากว่า

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของความสะดวก ซึ่งผู้บริโภคไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง อีกทั้งยังคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือมีร้านประจำที่ซื้อสินค้าออนไลน์อยู่แล้ว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ภาวุธ กลับมองว่า อีคอมเมิร์ซปี 2566 จะกลับมาเติบโตอีกรอบ หลังจากปี 2565 คาดว่าตลาดจะไม่มีการเติบโต และติดลบ 6% ในปี 2563

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดปี 2566 กลับมาเติบโต มาจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และการเปิดประเทศทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มฟื้นกลับมา โดยที่ผ่านมารายได้มากกว่าครึ่งของอีคอมเมิร์ซมาจากธุรกิจท่องเที่ยว จึงคาดว่าภาพรวมอีคอมเมิร์ซปี 2566 จะเติบโตได้ราว 10-20%

โซเชียลมีเดีย-ฟู้ดเดลิเวอรี โดดร่วมวงชิงตลาด

ขณะเดียวกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ คู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น จากผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย ทั้ง เฟซบุ๊ก TikTok และ LINE ผ่าน LINE my Shop ร่วมถึงกลุ่มฟู้ดเดลิเวอรี อาทิ ไลน์แมน ที่เพิ่งได้เม็ดเงินระดมทุนเกือบหมื่นล้านบาท หรือ แกร็บ ที่มีเป้าหมายมุ่งไปสู่ซูเปอร์แอป

shutterstock 580499569

นอกจากนี้ยังมี ฟู้ดแพนด้า โรบินฮู้ด แอร์เอเชีย หรือกลุ่มทรู ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้ จะขยายบริการไปมากกว่าฟู้ด โดยจะเข้ามาสู่อีคอมเมิร์ซมากขึ้น ทั้งบริการสั่งซื้อของสด หรือบริการรับส่งคนไปให้บริการนวด หรือ ทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของลาซาด้า ยังคงเชื่อมั่นใจธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย โดย นายวีระพงศ์ โก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจ Transforming Southeast Asia: From Discovery to Delivery: พลิกโฉมการช้อปปิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการค้นหาสู่การจัดส่ง พบว่า แม้จะก้าวเข้าสู่ยุคหลังโควิด แต่คนไทยกว่า 74% ยังคงซื้อสินค้าออนไลน์ต่อเนื่องอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และ 25% ซื้อหลายครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากชอบความสะดวกสบาย

ดังนั้น จึงมองว่า อีคอมเมิร์ซที่ยังมีช่องว่างในการเติบโตได้อีกมาก โดยจากสถิติ คนไทยเข้าถึงอีคอมเมิร์ซมากถึง 56% ในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 61.8% ในปี 2568 ทำให้แบรนด์และผู้ประกอบการจำนวนมากได้ปรับตัวและเข้ามาสร้างธุรกิจในช่องทางดังกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo