Business

ส.อ.ท. จี้รัฐ ‘ชะลอขึ้นค่าไฟ’ ต้นปี 66 หวั่นราคาสินค้าพุ่ง พร้อมเสนอ 2 ทางออก แก้ปัญหา ‘ต้นทุนพลังงานสูง’

ส.อ.ท. จี้รัฐ ‘ชะลอขึ้นค่าไฟ’ เดือน ม.ค.-เม.ย. 66 หวั่นราคาสินค้าพุ่ง 5-12% พร้อมเสนอ 2 ทางออก แก้ปัญหา ‘ต้นทุนพลังงานสูง’

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันราคาพลังงานมีความผันผวน และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอุตสาหกรรมทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการและครัวเรือน ได้รับผลกระทบอย่างมาก

ชะลอขึ้นค่าไฟ

หลากหลายสาเหตุ ส่งผลต้นทุนพลังงานสูง

และจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) แสดงให้เห็นว่า สาเหตุหลักที่ค่าพลังงาน และค่าไฟฟ้าของประเทศไทยสูงกว่าตลาด เมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียง เกิดจากการที่ประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ (NG / LNG) มากเกินไป และยังขาดแผนสำรองที่ดีในการบริหารก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ส่งผลให้การผลิตก๊าซต้นทุนต่ำจากอ่าวไทยต่ำกว่าแผนมาก

อีกทั้งประเทศเมียนมาลดการส่งก๊าซลง ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาจร(Spot LNG) ที่มีราคาสูงมากกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเข้ามาเสริม

และจากการคาดการณ์ความต้องการขาย (Demand) สูงเกินไป และการเปิดการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินความจำเป็น จึงก่อให้เกิดความต้องการซื้อ (Supply) ของโรงไฟฟ้ามากกว่าความต้องการขาย (Demand) ถึง 52% ส่งผลให้เป็นภาระต้นทุนของประเทศไทยในระยะยาว

ชะลอขึ้นค่าไฟ

และอีกหนึ่งสาเหตุ คือ ประเทศไทยยังขาดกลไกตลาดเสรีของพลังงานและไฟฟ้า ที่ยังไม่มี Third Party Access ที่เป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถใช้ระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าผ่านสายส่ง และจำหน่ายของการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงานได้

ส.อ.ท. ติดตามถึงสถานการณ์ความผันผวนและราคาพลังงาน รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ซึ่งได้มีการทำหนังสือยื่นเสนอข้อร้องเรียนถึงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงานไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม- พฤศจิกายน 2565

ทั้งเรื่องแนวทางการแก้ไขต้นทุนพลังงาน การชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ปัญหาสูตรโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติภาคอุตสาหกรรม แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้รับการประสานงานเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ชะลอขึ้นค่าไฟ

เสนอ 2 ทางออกต้นทุนพลังงานสูง

ทั้งนี้ ขอให้ภาครัฐพิจารณาถึงข้อเสนอของ ส.อ.ท. เพื่อหาทางออกต้นทุนพลังงานสูงเป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือ

  1. ข้อเสนอทางออกค่าไฟฟ้า ขอให้ชะลอการขึ้นค่าไฟฟ้าในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ออกไปก่อน
  2. ปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ เช่น การขอใบอนุญาต รง.4 (กรณีมีการจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาครัฐ) การขอใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งโซล่าเซลล์ (Solar Cell) ในโรงงานอุตสาหกรรมและภาคบริการ

การส่งเสริมการดำเนินงานร่วมกับ บีโอไอ ให้รวดเร็วและครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และการเพิ่มสัดส่วนเอทานอลด้วยน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วผสมกับเอทานอล (E20) เป็นต้น และ ข้อเสนอทางออกค่า NG

โดยผลักดันให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นตัวกลางในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อบรรเทาภาระระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ รวมทั้งรัฐบาลควรเร่งตั้งทีมเจรจากับประเทศกัมพูชา เพื่อนำพลังงานจากพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area: OCA) มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ชะลอขึ้นค่าไฟ

ชะลอขึ้นค่าไฟ หวั่นราคาสินค้าพุ่ง

ค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ถูกปรับขึ้นถึง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 17% เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากอยู่แล้ว

หากมีการปรับขึ้นอีกในงวดเดือนมกราคม-เมษายน2566 จะเป็นการปรับค่าไฟฟ้าขึ้นที่รุนแรงมากถึงสองงวดติดต่อกัน และจะส่งผลกระทบรุนแรงมาก จนยากต่อการปรับตัวของทุกภาคส่วน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยเกินคาด รวมทั้งเป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ

เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน ภาครัฐควรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูง และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งหากราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 5-12%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo