COVID-19

‘หมอนิธิพัฒน์’ ไขข้อข้องใจ ‘ปอดอักเสบโควิด’ ประชาชนต้องรู้ รักษาตัวเอง (ตอน 1)

ปอดอักเสบโควิด “หมอนิธิพัฒน์” ไขข้อข้องใจ รวมคำถาม-คำตอบ ให้ประชาชนเรียนรู้ ดูแลรักษาตัวเองให้รอดพ้น ในยามที่ภาคการแพทย์ และฝ่ายบริหารรัฐไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “นิธิพัฒน์ เจียรกุล” รวมคำถามคำตอบ เรื่องปอดอักเสบจากโควิด ให้ประชาชนเรียนรู้ ดูแลรักษาตัวเอง ในยามที่ภาคการแพทย์ และฝ่ายบริหารรัฐไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ดังนี้

ปอดอักเสบโควิด

“หากใครชื่นชอบ การ์ตูนเณรน้อยเจ้าปัญญา ในอดีต คงจำกันได้ถึงภาพติดตาท่าทางน่ารักน่าชัง ของอิ๊กคิวซัง ตัวเอกในเรื่อง ในยามที่ภาคการแพทย์ และฝ่ายบริหารรัฐไม่สามารถดูแลประชาชนได้ทั่วถึง จำเป็นที่ประชาชน จะต้องเรียนรู้ และดูแลรักษาตัวเอง ให้รอดพ้นจากปอดอักเสบเพราะโควิด

ขอเริ่มซีรีส์ไขข้อข้องใจ จากคำถามที่มักได้รับมาอยู่บ่อย ๆ

ปอดอักเสบโควิด สำหรับประชาชน ตอนที่ 1

ปุจฉา: ปอดอักเสบจากโควิด พบได้มากน้อยแค่ไหน และมีความสำคัญอย่างไร

วิสัชนา: เชื้อไวรัสโคโรนา-2019 มีความชื่นชอบระบบการหายใจของมนุษย์เป็นพิเศษ โดยมีคุณสมบัติการทะลุทะลวง ลงไปถึงแขนงหลอดลมฝอย และถุงลมปอดได้ง่าย ทำให้ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมด เกิดปอดอักเสบ มากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่จะตรวจพบด้วยวิธีการใด

แต่จะมีผู้ป่วยราว 50% เกิดปอดอักเสบ ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยมี 5% ที่ปอดอักเสบรุนแรงจนถึงวิกฤติ ทั้งนี้มีผู้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 2% ซึ่งนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่ 1%

รวมหมอโควิด ๒๑๐๗๒๘
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

ปุจฉา: ปอดอักเสบโควิด ต่างจากปอดอักเสบ จากเชื้อทั่วไป ตรงไหน

วิสัชนา: เจ้าไวรัสตัวนี้ นอกจากจะทำให้เกิดปอดอักเสบ เช่นเดียวกับเชื้อโรคอื่นแล้ว มันยังมีลักษณะพิเศษ ที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรา ให้ทำงานอย่างรุนแรง เพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสนี้

แม้เมื่อเทียบกันแล้ว อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับเชื้อโรคบางชนิด แต่เนื่องจากมันถูกกำจัดไปจากร่างกายมนุษย์ได้ยาก จึงทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินไปของร่างกายเรานี้ แสดงออกอยู่เป็นเวลานานกว่าเชื้ออื่น ส่งผลให้มีการสูญเสียหน้าที่การทำงาน ของระบบการหายใจเป็นหลัก และตามมาด้วยการทำงานบกพร่อง ของระบบร่างกายอื่น ตามมาได้

นอกจากนั้น เชื้อนี้ยังมีความสามารถในการรุกล้ำเส้นเลือด ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และเกิดการขาดเลือดของอวัยวะสำคัญ ๆ ตามมาได้

ปุจฉา: ระยะเวลาการเกิดปอดอักเสบ ยาวนานแค่ไหน และแพทย์รักษาอย่างไร

วิสัชนา: ในช่วงสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ จะเกิดปอดอักเสบได้ตั้งแต่ 3-5 วันเป็นต้นไป ลักษณะจะคล้ายปอดอักเสบติดเชื้ออื่น เมื่อเข้าสัปดาห์ที่สอง จะเกิดปอดอักเสบได้อีกระลอก จากภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินไป ซึ่งมักจะมีอาการรุนแรง จนถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และมีการเสียชีวิตตามมา

shutterstock 1690355482 1 scaled e1627490760214

ถ้าผ่านไปถึงสัปดาห์ที่สาม อาจเกิดปอดอักเสบอีกแบบหนึ่ง จากการที่ร่างกายพยายามฟื้นฟูปอด ในผู้ป่วยแต่ละราย อาจเกิดปอดอักเสบชนิดคาบเกี่ยวกันได้ โดยที่เชื้อสายพันธุ์เดลต้า จะทำให้เกิดปอดอักเสบทุกระยะ เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์อัลฟา

ดังนั้น แพทย์จึงมีหลักการรักษาคือ การให้ยาต้านไวรัสในช่วงแรก โดยพิจารณาให้ยารักษาสมดุลภูมิต้านทานของร่างกายร่วมด้วย ในรายที่มีอาการรุนแรง และเมื่อเข้าระยะสุดท้าย จึงเป็นการให้ยาต้านการอักเสบ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด

ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาทั้งสามระยะ สิ่งที่สำคัญ คือ การให้ออกซิเจนเมื่อมีข้อบ่งชี้ เริ่มจากออกซิเจนอัตราไหลต่ำ ตามด้วยออกซิเจนอัตราไหลสูง (ไฮโฟลว์) และสุดทางที่การใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่มีน้อยราย ที่ได้ไปต่อด้วยการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (เอ็คโม)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo