General

‘ยาบ้า’ ครองแชมป์อันดับ 1 ตลอดกาล

ปัญหายาเสพติด ยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ส่งผลกระทบทั้งต่อผู้เสพ และความเป็นอยู่ของคนในสังคม สถาบันบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ พบว่าบรรดายาเสพติดทั้งหมดที่มีผู้เสพจนติด ยังเป็น “ยาบ้า” ครองแชมป์อันดับหนึ่ง โดยผู้เสพส่วนใหญ่ มีอาชีพ “รับจ้างและว่างงาน”

1527738964711 1 e1549362903625
นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ

นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถิติของผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดของ สถาบันบำบัด  รักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ปี 2561 พบผู้ป่วยทั้งหมด 6,199 คน เป็นเพศชาย 5,353 คน คิดเป็น 86.35 % และเพศหญิง 846 คน คิดเป็น 13.65 %

โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มากที่สุด อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 25-29 ปี จำนวน 1,137 คน รองลงมาได้แก่ช่วงอายุระหว่าง 20 – 24 ปี จำนวน 1,116 คน และช่วงอายุระหว่าง 30-34 ปี จำนวน 963 คน ตามลำดับ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ว่างงาน  ประเภทของยาเสพติดที่ใช้มากที่สุด คือ “ยาบ้า” จำนวน 3,369 คน รองลงมาได้แก่ สุรา จำนวน 1,050 คน

ทั้งนี้ “ยาบ้า” เป็นสารเสพติดออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง เมื่อเสพยาบ้าเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดอารมณ์สนุกสนาน กระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วง ไม่หิว ออกฤทธิ์นาน 8-24 ชั่วโมง การเสพ”ยาบ้า”ซ้ำหลาย ๆ ครั้งใน 1 วัน ทำให้ปริมาณเมทแอมเฟตามีนในเลือดสูงขึ้น เกิดอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอน คลุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเอง รวมถึงทำร้ายผู้อื่น

และที่สำคัญที่สุดทำให้เกิดโรคสมองติดยา โดยสมองในส่วนการควบคุมความคิด จะถูกทำลาย ทำให้ผู้เสพมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง และเกิดอาการทางจิตประสาท

1524717548412 1
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒน ผู้อำนวยการ สบยช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้”ยาบ้า” หรือสารเสพติดประเภทอื่นๆ เกิดผลเสียทั้งต่อตนเอง ทำให้สุขภาพทรุดโทรม ภูมิคุ้มกันต่ำลง ติดโรคง่าย กล้ามเนื้อกระตุก ชัก เสียชีวิตได้ และผลเสียต่อครอบครัว ก็คือ      สัมพันธภาพในครอบครัวแย่ลง เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ครอบครัวแตกแยก หย่า ตลอดจนผลเสียต่อสังคมและชุมชน

เมื่อใช้จนเกิดการเสพติด อาจเกิดปัญหาการลักขโมยในชุมชน ข่มเหง ทำร้ายผู้อื่น เกิดความไม่ปลอดภัยของคนในชุมชน ทั้งนี้ ครอบครัว ผู้ปกครอง สามารถป้องกันบุตรหลาน ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

ด้วยการอบรมเลี้ยงดูให้ความอบอุ่น เอาใจใส่ ให้เวลา สอนให้เห็นถึงผลกระทบของยาเสพติด เป็นแบบอย่างที่ดี หากเกิดการพลาดพลั้งเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว ต้องดูแลช่วยเหลืออย่างถูกต้อง และให้กำลังใจตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th

หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่นอุดรธานี สงขลา และปัตตานี

Avatar photo