Business

ไม่ต้องห่วง! พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯใหม่เริ่มใช้ ‘เม.ย.2563’

ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 คือร่างที่จะนำมาใช้จริงในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2563 แต่สถานการณ์ปัจจุบัน หลายคนยังมีข้อสงสัย ในร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯดังกล่าว หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้อย่าง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จึงพยายามเผยแพร่ข้อมูล เพื่อให้ประชาชนทำความเข้าใจ กับร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับทุกคนที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ซึ่งหลายคนกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ ทั้งบ้านที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำเกษตรกรรม

นายลวรณ แสงสนิท
นายลวรณ แสงสนิท

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลักการคือต้องการกระจายฐานการจัดเก็บภาษีให้ทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งกระจายรายได้ภาษีให้เข้าถึงท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งหลักการเบื้องต้นฐานภาษีที่จัดเก็บใหม่ จะไม่กระทบกับบ้านที่อยู่อาศัย ละพื้นที่การทำเกษตรกรรมส่วนบุคคล ที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ยังคงได้รับการยกเว้น ทั้ง 2 รายการ

ข้อดีอีกประการคือ ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่นี้ จะตัดขั้นตอนการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ออกไป เพราะกฎหมายจะกำหนดประเภทและอัตราการจัดเก็บไว้อยางชัดเจน ทำให้ลดปัญหาเรื่องดุลพินิจส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ ซึ่งนำมาซึ่งการทุจริตคอร์รัปชั่น และจัดเก็บภาษีไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม

กฎหมายภาษีที่ดินใหม่นี้ จะเป็นเครื่องมือเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพให้กับท้องถิ่น และอัตราภาษีที่จัดเก็บก็เปลี่ยนไป โดยมีอัตราเพดานที่ 0.15% หรือทรัพย์สินมูลค่า 1 ล้านบาท เสีย 1,500 บาทเป็นอัตราสูงสุด และสำหรับทรัพย์สินที่เป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมรายบุคคล ที่ไม่ใช่ในรูปบริษัทนั้น ทรัพย์สินมูลค่า 50 ล้านบาทแรกไม่เสียภาษี เช่นเดียวกับที่อยู่อาศัย ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาทก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน สำหรับบ้านบนที่ดินตัวเอง แต่ถ้าเป็นบ้านบนพื้นที่เช่า จะยกเว้นภาษีที่มูลค่า 10 ล้านบาท

อัตตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
อัตตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ส่วนพื้นที่พาณิชยกรรม ภาษีที่ดินฉบับใหม่ จะจัดเก็บตั้งแต่บาทแรก โดยเริ่มอัตราตั้งแต่ 0.3-1.2% ของมูลค่าทารัพย์สิน ซึ่งส่วนใหญ่อัตราภาษีที่จัดเก็บจะอยู่ระหว่าง 0.3-0.7%

สำหรับพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ถ้าไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทุก 3 ปี ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม 0.3% สะสมไปเรื่อยๆ จนครบอัตราสูงสุดไม่เกิน 3% ของมูลค่าอสังหาฯนั้นๆ

การดูแลผลกระทบบ้านพักอาศัย
การดูแลผลกระทบบ้านพักอาศัย

“ภาระภาษีสุดท้ายไม่สููง วัตถุประสงค์ของรัฐบาลอยากให้ทุกคนเข้าระบบภาษี แต่เสียภาษีในอัตราที่ต่ำ” นายลวรณ กล่าวและว่า เมื่อเทียบพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯฉบับใหม่ กับกฎหมายเดิมภาษีโรงเรือนและที่ดิน จากโครงการอพาร์ตเม้นท์มูลค่า 10 ล้านบาท พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯเรียกเก็บ 0.3% เท่ากับ 30,000 บาท/ปี แต่ภาษีโรงเรือนฯทุกวันนี้เสียอยู่ 70,000 บาท/ปี และที่สำคัญลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ ถือเป็นข้อดีของกฎหมายนี้

อีกข้อดีคือ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯเมื่อใช้แล้ว ทุกคนในท้องถิ่นจะรู้ว่าใครเสียภาษีเท่าไร ธุรกิจเสียเท่านี้คู่แข่งเสียเท่าไรสามารถตรวจสอบได้ ข้อมูลไม่เป็นความลับ ขนาดโรงงานก็รู้ จำนวนภาษีที่จัดเก็บก็รู้ นั่นคือมีความโปร่งใสมากขึ้น

การดูแลผลกระทบธุรกิจ SMEs
การดูแลผลกระทบธุรกิจ SMEs

นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ ยังจะสามารถช่วยลดการเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ ลดการซื้ออสังหาฯเพื่อเก็งกำไร เพราะหากซื้อไปไม่ใช้ประโยชน์ต้องเสียภาษีที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งเราไม่เคยจัดเก็บมาก่อน หรือหากซื้ออสังหาฯไปปล่อยเช่า ก็ต้องเสียภาษีแบบพาณิชยกรรม

ไม่ต้องตกใจว่าภาษีจะแพง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฉบับใหม่เป็นธรรม และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นเป็นหลัก

นายลวรณ ย้ำว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ฉบับนี้เป็นที่สิ้นสุดแล้ว อัตราการจัดเก็บตามที่ประกาศทุกอย่าง โดยกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2563 เหลือเวลาเตรียมตัวอีกปีเศษๆ ก็จะมีผลในทางปฏิบัติแล้ว

‘ภาษีลาภลอย’ ยังอีกยาวไกล

ส่วน “ภาษีลาภลอย” เป็นอีกกฎหมายที่หลายคนกังวง แต่นายลวรณ เผยว่ากฎหมายนี้เพียงแค่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หนทางยังอีกยาวไกลกว่าจะออกมาเป็นกฎหมายได้ เพราะยังไม่ผ่านกฤษฏีกา และคาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติ(สนช.) ไม่ทันในรัฐบาลนี้แน่นอน ยังไม่ต้องกังวลมาก

อย่างไรก็ตาม หลักการของข้อกฎหมาย ภาษีลาภลอย มาจากหลักคิดที่ว่ารัฐบาลลงทุนสาธารณูปโภคไปด้วยเม็ดเงินมหาศาล และทำให้อสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โครงการลงทุนของรัฐบาลเหล่านั้นได้ผลประโยชน์ จากมูลค่าที่เพิ่มขึ้น เจ้าของอสังหาฯนั้นได้ประโยชน์ ก็ควรต้องเสียภาษี

อย่างไรก็ตาม เพดานอัตราการจัดเก็บเต็มที่จะอยู่ที่ 5% ส่วนจะเก็บจริงเท่าไร ต้องไปออกพ.ร.ฏ.อีกที ดูความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยหากจัดเก็บก็จะคำนวณเฉพาะส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่มูลค่ารวม

แต่ระหว่างนั้น หากมีการเปลี่ยนมือซื้อขาย ก็จะจัดเก็บทุกครั้งของการเปลี่ยนมือ ขายที่-ขายบ้านระหว่างก่อสร้างเก็บหมด โดยเก็บผ่านกรมที่ดินเมื่อโอนกรรมสิทธิ์ แต่ถ้าไม่เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ โดยเจ้าของยังคงถือครองเช่นเดิมก็ปกติไม่เสียภาษี ทั้งที่ยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรม

Avatar photo