COLUMNISTS

ความเครียดในงาน : จริงๆ แล้วคุณเครียด หรือแค่เข้าใจผิด

Avatar photo
ที่ปรึกษาบริหารโครงการ บริษัท สลิงชอท คอนซัลทิง จำกัด
5393

เคยทำงานในสภาพที่กดดันไหมคะ  ณ สถานการณ์ที่งานกองเต็มโต๊ะ และไม่มีท่าทีว่าจะลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น เดดไลน์ก็กระชั้นมาเรื่อยๆ แต่ในหัวสมองของคุณยังว่างเปล่า มีแต่ความเครียด เมื่อความเครียดเกิดมา ความดันก็ขึ้น

ยิ่งเครียด ยิ่งกดดัน ยิ่งคิดงานไม่ได้

ทำยังไงดีล่ะทีนี้ … เมื่องาน ซึ่งคือปัจจัยภายนอก และเราจะเดินไปบอกลูกค้าว่า ขอเลื่อนก่อนนะคะ ช่วงนี้เครียดมาก ไม่สามารถทำงานได้ ไม่ได้แน่ ๆ

ก่อนอื่นเลย เราก็ต้องหันมาจัดการกับตัวเองก่อน ให้สามารถรับมือกับงานมหาศาลที่ก่ายกองอยู่นี้ได้

คนเราเผชิญกับความเครียดอยู่แล้วในทุกๆ วัน ทุกเช้า เที่ยง เย็น หากเราเจอกับความเครียดบ่อยขนาดนี้แล้ว ถ้ายังไม่ชิน เราอาจจะต้องหันมาทำความรู้จักกับเพื่อนเก่าแก่ของเราที่เรียกว่า “ความเครียด” นี้อย่างลึกซึ้งกันเสียที

โดยปกติแล้วคนเราจะมองความเครียดในด้านลบว่า ส่งผลร้ายต่อร่างกาย จิตใจ ครอบครัว การทำงาน เรียกได้ว่าความเครียดนี้ไม่ดีเอาเสียเลย และไม่มีใครอยากเครียดอีกต่างหาก ยิ่งเครียดเรื่องงานแล้ว ยังต้องมาเครียดเรื่องตัวเองอีกด้วย

laptop 3087585 340

Kelly McGonigal นักสุขภาวะจิตได้นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจในรายการ Ted Talk ว่า อันที่จริงแล้ว ความเครียดที่เกิดขึ้น ไม่ได้ส่งผลต่อร่างกายเรามากอย่างที่คิด แต่เป็นความเชื่อ ทัศนคติ และมุมมองของคนเราที่มีต่อความเครียดต่างหากล่ะที่ส่งผลต่อร่างกาย

จากการสำรวจคนอเมริกัน 30,000 คน ถึงระดับความเครียดที่เผชิญอยู่ และมุมมองความเครียดที่มีผลต่อร่างกาย ผลสรุปจากกสำรวจชี้ให้เห็นว่า คนที่มีความเครียดอย่างหนัก และเชื่อว่าความเครียดนั้นเป็นอันตราย มีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 43%

ในทางกลับกัน คนที่มีความเครียดอย่างหนัก แต่เชื่อว่าความเครียดนั้นไม่ส่งผลต่อร่างกาย จะมีอัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตต่ำมาก ต่ำเสียยิ่งกว่าผู้ที่มีความเครียดเล็กน้อย แต่เชื่อว่าความเครียดนั้นส่งผลอันตรายต่อร่างกายเสียอีก

ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจนี้ยังแสดงให้เห็นว่าคนชาวอเมริกันที่เสียชีวิต 20,000 กว่าคนต่อปี ไม่ได้มีสาเหตุเกิดจากความเครียด แต่เกิดจากความเชื่อที่ว่าความเครียดนั้นส่งผลต่อร่างกายนั่นเอง

หมายความว่าอย่างไร

เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด เรามักจะวิตก กังวล เหงื่อออก และตื่นตัว แต่หากเราเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการแสดงออกนี้ จากที่เราเคยเรียกว่าความเครียด ไปเป็นความตื่นเต้น ความตื่นตัวของร่างกาย ที่เตรียมให้เราพร้อมที่จะเจอกับสถานการณ์ที่ท้าทาย เราจะสามารถลดความวิตกกังวล และมีความมั่นใจมากขึ้น และสามารถเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าได้มากกว่าการปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเครียดนั่นเอง