Digital Economy

10 แนวทางสร้างความเชื่อมั่นดิจิทัลสำหรับธุรกิจ

‘PwC’เผยผลสำรวจองค์กรทั่วโลก ยังขาดความพร้อมรับมือความเสี่ยงโลกไซเบอร์ ขาดมาตรการป้องกันธุรกิจและลูกค้าที่ดีพอ แนะ 10 โอกาสร้างความเชื่อมั่นองค์กรในโลกดิจิทัล ย้ำธุรกิจไทยต้องปรับตัวรับกฎหมายจีดีพีอาร์ของอียู และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยใกล้บังคับใช้ รวมถึงมีมาตรการป้องกันภัยไซเบอร์ เพื่อสร้างความไว้วางใจในโลกดิจิทัลให้ผู้บริโภคชาวไทยที่ใช้ออนไลน์มากขึ้น

Vilaiporn Taweelappontong PwC Thailand
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง

นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจ “Digital Trust Insights” ซึ่งมาจากผลสำรวจ “Global State of Information Security® Survey (GSISS)”ของ PwC ที่ได้จัดทำติดต่อกันเป็นเวลาถึง 20 ปี โดย PwC ทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลด้านความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยในปีนี้ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจจำนวน 3,000 ราย ใน 81 ประเทศ จากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก โดยระบุว่า การดำเนินธุรกิจในโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ทำให้บริษัทต่างต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในการดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็น เพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านดิจิทัล รวมทั้งมีมาตรการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก แต่ผลจากการสำรวจกลับพบว่า องค์กรไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ต่างยังไม่มีความพร้อมที่จะระบุความเสี่ยง และป้องกันองค์กและลูกค้า

ประเด็นที่น่าสนใจจากผลสำรวจ ได้แก่

  • มีธุรกิจเพียง 53% เท่านั้นที่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงในเชิงรุกหรือ “แบบเต็มที่ตั้งแต่เริ่มต้น” เพื่อเปลี่ยนถ่ายธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัล
  • มีบริษัทเพียงส่วนน้อย (23%) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป ที่มีแผนจัดให้มีระบบและมาตรการป้องกันความปลอดภัยสอดคล้องไปกับวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ
  • มีผู้บริหารเพียง 27% เท่านั้นที่เชื่อว่า คณะกรรมการของพวกเขามีตัวชี้วัดสำหรับการจัดการความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ความเสี่ยงด้านข้อมูล และความเป็นส่วนตัวที่เพียงพอ
  • มีองค์กรที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ จากกลุ่มอุตสาหกรรมหลักทั่วโลกน้อยกว่าครึ่ง ที่บอกว่า มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ จีดีพีอาร์ (General Data Protection Regulation: GDPR) ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561
  • แม้ว่า 81% ของผู้บริหารจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที (The Internet of Things: IoT) ต่อธุรกิจของพวกเขา แต่มีเพียงแค่ 39% เท่านั้นที่มีความมั่นใจมากว่า ได้มีการนำระบบการควบคุมความเสี่ยงด้านดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างเพียงพอ
e13
โลกไซเบอร์เชื่อมโยงทุกธุรกิจ

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นต่อบุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัล องค์กรต่างๆ มีความจำเป็นที่จะต้องนำความกังวลด้านไซเบอร์ มาประเมินและบรรจุอยู่ในแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างรอบคอบ มากกว่าการลดผลกระทบจากความเสี่ยงทั่วไป เพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขัน และทำให้องค์กรของตน กลายเป็นองค์กรที่ได้รับความไว้วางใจ ทั้งในด้านของความปลอดภัย ความมั่นคง ความไว้วางใจได้ ความเป็นส่วนตัว และการมีจริยธรรมด้านข้อมูล

นายฌอน จอยซ์ หัวหน้าสายงานรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว ของ PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของการจัดการความเสี่ยงด้านไซเบอร์ ถือได้ว่ามีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จากเดิมที่มุ่งเน้นในเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูล วันนี้เน้นไปที่การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านดิจิทัลแบบองค์รวม ดังนั้นผลสำรวจของเราต้องการที่จะช่วยให้ผู้บริหาร สามารถจัดการกับความท้าทายในวันพรุ่งนี้ให้ได้

องค์กรใดแสดงให้โลกเห็นว่าสามารถสร้างความปลอดภัย-มั่นคง-ไว้วางใจความเป็นส่วนตัวด้านข้อมูลและมีจริยธรรม องค์กรนั้นจะก้าวขึ้นเป็นใหญ่ได้

ผลสำรวจของ PwC ฉบับนี้ ได้แบ่งแยกกลไกที่บริษัทต่างๆ ควรต้องมี เพื่อสร้างความไว้วางใจด้านดิจิทัล และเตรียมรับมือกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา โดยได้ระบุถึง 10 โอกาสที่องค์กรจะสามารถนำไปใช้ เพื่อปรับปรุงระบบความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว รวมถึงสร้างความไว้วางใจจากผู้บริโภคได้ ประกอบด้วย

  1. ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัล
  2. ยกระดับทีมบุคลากรมากความสามารถ และทีมผู้นำขององค์กร
  3. เพิ่มการตระหนักรู้ของพนักงาน และความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบของตน
  4. ปรับปรุงการสื่อสาร และการมีส่วนร่วมกับคณะกรรมการบริษัท
  5. บรรจุให้แผนความปลอดภัย ให้เชื่อมโยงกับเป้าหมายทางธุรกิจ
  6. สร้างความไว้วางใจด้านข้อมูลที่ยั่งยืน
  7. เพิ่มความยืดหยุ่นทางไซเบอร์
  8. รู้ว่าศัตรูหรือภัยขององค์กรคืออะไร
  9. มีความตื่นตัวในการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ
  10. ก้าวให้ทันนวัตกรรม

นางสาววิไลพร กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจไทยแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพาณิชย์ ค้าปลีก และสื่อสาร มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการแก่ผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นโมบายแบงก์กิ้ง ชอปปิงออนไลน์ หรือ อีวอลเล็ต แต่ความเสี่ยงที่ตามมาคือ จำนวนอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ในรูปแบบใหม่ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะฉะนั้น ผู้บริหารต้องมีมาตรการ รวมถึงแผนลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และการป้องกันภัยทางไซเบอร์ที่มากขึ้น

cyber attack
ภัยคุกคามไซเบอร์ยังเป็นปัญหาใหญ่

ยิ่งไปกว่านั้น อยากแนะนำให้ผู้บริหารตื่นตัวในเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกระแสที่ทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทย ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับหลักการของร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนี่จะเป็นการสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

“แนวโน้มการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิความเป็นส่วนตัวของไทยจะยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น จึงอยากเตือนผู้ประกอบการว่า ควรต้องเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นขอความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูลจากลูกค้า หรือการต้องระบุวัตถุประสงค์การใช้ข้อมูลที่ชัดเจน ไปจนถึงการมีระบบหลังบ้านเพื่อที่ดูแลข้อมูล โดยอาจปรึกษาทีมผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะประเด็นเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะถือเป็นเรื่องที่บริษัทไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน” นางสาววิไลพร กล่าว

Avatar photo