Finance

‘หุ้นเล็กราคาต่ำ 5 บาท’ เทรดคึก!!

112

ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนเมษายน 2561 ผ่านไป จะเห็นว่า ดัชนีผันผวนขึ้นลงแรง โดยดัชนีปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 1,801.28 จุด และต่ำสุดที่ระดับ 1,724.98 จุด

หากพิจารณาเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า หุ้นกลุ่มขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุด 5.77% เนื่องจากหุ้น BEM ราคาปรับตัวขึ้นสูงถึง 9% กลุ่มปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.39% มาจากหุ้น IVL ราคาเพิ่มขึ้น 4.37% ขณะที่กลุ่มท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2.39% จากหุ้น CENTEL ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 3.55% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากเข้าไปดูข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในส่วนของหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากสุดในเดือนเมษายน 2561 มากที่สุด 10 อันดับแรก พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มหุ้นที่มีขนาดเล็ก ราคาหุ้นไม่เกิน 5 บาทต่อหุ้น  และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เฉลี่ยของหุ้นที่ซื้อขายกันอยู่ในระดับ ตั้งแต่ไม่ถึง 1 พันล้านบาท สูงสุด 4 พันล้านบาท หากเทียบกับเดือนมีนาคม 2561 หุ้นที่มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุด อยู่ในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแคป ตั้งแต่ระดับ 2พันล้านบาทถึง 7.9 หมื่นล้านบาท

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ปีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเก็งกำไรเต็มรูปแบบ และหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ ที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ ได้รับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ทำให้ราคาหุ้นชะลอตัว และมีความน่าสนใจการลงทุนลดลง

ทั้งนี้ เมื่อสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคมนี้ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในหลายๆด้าน ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ดังนี้

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า ในเดือนเมษายนตลาดหุ้นเผชิญกับ ความเสี่ยงเชิงนโยบายของภาครัฐ หรือ Policy risk ทำให้เหลือกลุ่มลงทุนลดลง ซึ่งจบการลงทุนไปอีกหนึ่งเดือน และต้องยอมรับว่าการลงทุนเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความลำบาก สาเหตุหลักเกิดจากความเสี่ยงเชิงนโยบายจากภาครัฐ ส่งผลให้หุ้นหลายกลุ่มได้รับผลกระทบ นำโดย กลุ่มก่อสร้าง, กลุ่มโรงกลั่น และกลุ่มธนาคาร  ขณะที่กลุ่มที่ปรับตัวขึ้นเด่นที่สุดได้แก่กลุ่มขนส่ง นำโดยหุ้น AOT, BEM, BTS, PSL

หากนับภาพรวมพบว่ามีหุ้นสูงเกือบ 400 บริษัทที่ราคาปรับตัวลง (คิดเป็นประมาณ 60%ของจำนวนบริษัททั้งหมด, และมีเพียง 13% ที่ปรับตัวขึ้นสูงกว่า 5%) ภาพดังกล่าวสะท้อนเม็ดเงิน Liquidity flow ในตลาดที่เริ่มลดลง จากทั้งประเด็น กลุ่มที่เหลือให้ลงทุนน้อยลง และความกังวลเรื่อง Bond yield ของสหรัฐที่เร่งตัวขึ้นส่งผลให้เกิดแรงขายทำกำไรในตลาดหุ้นทั่วเอเชียรวมถึงประเทศไทย

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยแนะนักลงทุนจับตาการประชุม FED และการรายงานตัวเลขสำคัญต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวกำหนดทิศทาง Fund flow ในเดือนพฤษภาคมนี้

“ฝ่ายวิจัยมองว่าตลาดจะกลับมาเล่นบน Fundamental play อีกครั้ง ภายหลังจากเมื่อ 6 เดือนก่อนถูกเก็งกำไรบน Liquidity play ค่อนข้างสูง โดยแนะนักลงทุนหันสะสมหุ้นกลุ่มที่คาดผลประกอบการจะดีในไตรมาสหนึ่งพร้อมเติบโตต่อเนื่องในไตรมาสสอง ได้แก่ IVL, PTTEP, CPN และ LH”

บล.ทรีนีตี้ ประเมินกลยุทธ์การลงทุนว่า  แนะนำนักลงทุนชะลอการลงทุนในช่วงสั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง 3 ประการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ 1.) การปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ที่เริ่มลามมายังกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏการณ์ขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ 2.) การปรับตัวพุ่งสูงขึ้นของ Bond yield ทั่วโลก จนทำให้ล่าสุด Earning yield gap ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ Lehman crisis 3.) Downside risk ของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และ 4.) การปรับตัวขึ้นมาของ Bond yield ไทย ที่อาจทำให้นักลงทุนในประเทศมีแรงจูงใจที่จะโยกย้ายเงินออกจากตลาดหุ้นเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้มากขึ้น

หากจะต้องเลือกลงทุนในช่วงนี้ กลุ่มหุ้นที่เราแนะนำ Selective ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี ที่ Spread ผลิตภัณฑ์ยังคงอยู่ในระดับสูง ได้แก่ IVL (ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 70 บาท)  กลุ่มโรงแรม ที่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการขยายตัวของการท่องเที่ยวเมืองรอง ได้แก่ MINT (48 บาท) และ ERW (8.90 บาท) กลุ่มนิคมฯและ Logistics properties ที่ได้ประโยชน์จากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ AMATA และ WHA (ราคาเป้าหมาย Consensus อยู่ที่ 27 บาทและ 4.60 บาทตามลำดับ) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มี Dividend yield อยู่ในระดับสูง ได้แก่ QH (3.85 บาท) และ AP (9.20 บาท) กลุ่มสื่อสารที่มี Regulatory risk ที่ลดลง ประกอบกับความน่าจะเป็นที่จะได้รับมาตรการเยียวยาจากภาครัฐมีสูงขึ้น เลือก ADVANC (217 บาท) และ TRUE (8.30 บาท)

สำหรับนักลงทุนระยะสั้นประเภทเก็งกำไร แนะนำกลุ่มชิ้นส่วนฯที่ได้อานิสงส์จากการที่เงินบาทกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของการอ่อนค่ามากที่สุดประจำปี ได้แก่ KCE (88 บาท) และ HANA (44 บาท)

บล.คันทรี่ กรุ๊ป คาดว่า นักลงทุนน่าจะกลับมาให้ความสำคัญกับผลประกอบการเป็นหลักโดยหุ้นใน SET100 ที่ประกาศผลประกอบการออกมามีกำไรสุทธิ 7.2 หมื่นล้านบาท (เพิ่ม 18% จากไตรมาส 4 ปี2560, ลดลง 8% จากงวดเดียวกันปีก่อน) ดีกว่า Bloomberg คาด 3% นับเป็นปัจจัยหนุนการลงทุนเชิงบวกที่ส่งผลไปยังกำไรต่อหุ้นของดัชนี ในเชิงกลยุทธ์ระหว่างรอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐเน้นไปยังกลุ่มที่ Consensus คาดผลประกอบการจะเติบโตได้ (AAV ADVANC CENTEL CK CPN LH) รวมถึงหุ้นที่มีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัวของบริษัท (BR GOLD SMPC TTW)

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ดัชนีหุ้นไทยปิดเดือนเมษายน ที่ 1,780.11 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.94 จุด (เพิ่มขึ้น 0.7%) ตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ ถือว่า เป็นไปตามสถิติที่เคยประเมินไว้ ว่า SET INDEX  มักปรับตัวเพิ่มขึ้นบ่อยครั้งในช่วงครึ่งหลังของเดือน เมษายน

สำหรับทิศทางในเดือนพฤษภาคมเชิงสถิติ บ่งชี้ว่า เป็นเดือนที่ SET INDEX ทำผลงานได้ไม่ค่อยดีนัก กล่าวคือ SET INDEX ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนนี้เพียง 4 จาก 10 ปีหลังสุด นับว่า แย่สุดเมื่อเทียบกับอีก 11 เดือนที่เหลือ ทำให้มีคำกล่าวว่า “Sell in May and Go Away” ทั้งนี้ มองว่า ทิศทางของ SET INDEX ในเดือนนี้ จะถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศ, การรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส1ปี2561 จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม, การปรับดัชนี MSCI

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight