Economics

‘เอสซีจี’ ทุ่ม 6 หมื่นล้านลงทุนปี 62

เอสซีจี วางงบลงทุนปี 2562 สูงถึง 60,000 ล้านบาท เดินหน้าใส่เงินลงทุนปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ เวียดนาม 30,000 ล้านบาท พร้อมเพิ่มงบวิจัยพัฒนา และลงทุนในสตาร์ทอัพกว่า 5,000 ล้าน ระบุต้องตั้งสำรองจ่าย 2,000 ล้านบาท เหตุเพิ่มค่าชดเชยลูกจ้างลาออก ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ กระทบผลการดำเนินงานปีนี้  

20190130 143837 e1548844738287 1

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี  กล่าวว่า ปี 2562 บริษัทได้วางงบลงทุนไว้รวม 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่อยู่ในระดับ 47,000 ล้านบาท  เป็นการลงทุนในโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่เวียดนาม 30,000 ล้านบาท จากงบลงทุนทั้งหมด 180,000 ล้านบาท

ส่วนอีก 5,000 ล้านบาท เป็นงบสำหรับวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ และบางส่วนเป็นการลงทุนธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในฟิลิปปินส์ จากเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งโครงการ 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้จะทะยอยลงทุนปรับปรุงหน่วยผลิต (debottleneck)ธุรกิจปิโตรเคมี จากมูลค่าโครงการรวม 20,000 ล้านบาท

โดยปี 62 นี้คาดว่ายอดขายจะเติบโต 5% จากปี 2561 ที่อยู่ในระดับ 478,438 ล้านบาท แนวโน้มที่ดีมาจาก ตลาดวัสดุก่อสร้างเติบโต สำหรับในไทย การเติบโตมาจากการเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่เห็นผลชัดเจนในครึ่งแรกของปี รวมถึงการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (เออีซี) ส่วนตลาดในอาเซียนเติบโต เพราะแต่ละประเทศ ล้วนมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ตลาดปูนซีเมนต์เติบโตประมาณ 3-5% สำหรับในไทย และ 5-10 % ในอาเซียน นอกจากนี้ธุรกิจแพคเกจจิ้งยังขยายตัว โดยหากภาวะเศรษฐกิจขยายตัว 4 % แพคเกจจิ้งจะขยายตัวราว 4-5%

อย่างไรก็ตามปีนี้ บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ประกอบด้วย

1.กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ที่ร่างเพิ่งผ่านจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  และจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 1 หรือ 2 ของปีนี้ สาระสำคัญ คือ การปรับเพิ่มเงินชดเชยสำหรับการเลิกจ้างและผู้เกษียณอายุสำหรับลูกจ้างที่ทำงาน 20 ปีขึ้นไป จาก 300 วันเป็น 400 วัน  โดยหลังมีผลให้บริษัทต้องเตรียมตั้งสำรองจ่ายเป็นเงินสดไว้ 2,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัวบุคคล แต่จะกระทบกับผลการดำเนินงานในปีนี้แน่นอน 

2.ความผันผวนของต้นทุนพลังงาน

3.สงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนภายในเดือนมีนาคม ปัจจัยที่ 2 และ 3 ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น

4.เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จะกระทบกับบริษัทแน่นอน เพราะสินค้าของบริษัทส่งออกเป็นหลัก

1473471375 8186

ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ บริษัทจะมุ่งขยายตลาดใหม่ๆ มากขึ้น เช่น จีน อินเดีย สหรัฐ และให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีนวัตกรรมเป็นหลัก

“ปี 2562 นี้ เอสซีจียังคงเน้นกลยุทธ์หลัก คือ การสร้างเสถียรภาพทางการเงิน (Stability) เพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามบริษัทยังมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง โดยมีสัดส่วน Net Debt to EBITDA อยู่ที่ 1.7 เท่า ขณะที่เงินกู้เกือบทั้งหมดเป็นเงินบาท และเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่กว่า 90 % ส่วนกระแสเงินสดมีเสถียรภาพจากผลการดำเนินงานของธุรกิจหลักที่มั่นคง โดยปีนี้บริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้ในปีนี้ 15,000 ล้านบาทด้วย ”

สำหรับความคืบหน้าในการลงทุนโครงการ ปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ แห่งที่ 2 ที่ อินโดนีเซียนั้น จะได้ข้อสรุปภายในต้นปี 2563 แน่นอน ยอมรับว่าต้องทบทวนโครงการลงทุนใหม่ เพราะปัจจัยต่างๆเปลียนแปลง ทำให้ต้องเลื่อนเวลาจัดสินใจลงทุน

กำไรปี 61 ลดลง 19% เหตุปัจจัยตลาดโลก

ทางด้านผลประกอบการของเอสซีจีประจำปี 2561 มีรายได้จากการขาย 478,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 %จากปีก่อนกำไร 44,748 ล้านบาท ลดลง 19 % จากปีก่อน จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งสถานการณ์สงครามการค้า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวน และเงินบาทแข็งค่า

ส่วนยอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) 184,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 % จากปีก่อน คิดเป็น 39 % ของยอดขายรวม โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 4,674 ล้านบาท คิดเป็น 1 %ของยอดขายรวม

สำหรับไตรมาสที่ 4 ปี 2561 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 117,223 ล้านบาท ลดลง 4 % จากไตรมาสก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง แต่เพิ่มขึ้น 3 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของตลาดในประเทศของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง

โดยมีกำไรสำหรับงวด 10,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11 % จากไตรมาสก่อน จากเงินปันผลรับจากเงินลงทุนของธุรกิจเคมิคอลส์และการลงทุนในธุรกิจอื่น แต่ลดลง 17 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมิคอลส์ที่ลดลง ทั้งนี้ เอสซีจีมีรายได้จากการส่งออก 130,895 ล้านบาท คิดเป็น 27 % ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 6 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายรุ่งโรจน์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานของเอสซีจี นอกเหนือจากประเทศไทยในปี 2561 เอสซีจีมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 118,014 ล้านบาท คิดเป็น 25 % ของรายได้จากการขายรวม เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน และมีรายได้จากการขายในภูมิภาคอื่น ๆ 86,155 ล้านบาท คิดเป็น18 % รายได้จากการขายรวม

longson37234849PM

ปิโตรเคมีขาลง ทำธุรกิจเคมิคอลส์กำไรหด 29%

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2561 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้

ธุรกิจเคมิคอลส์ ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 221,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7 % จากปีก่อน จากปริมาณการขายและราคาขายของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรสำหรับปี 29,166 ล้านบาท ลดลง 29 % จากปีก่อน จากวัฏจักรอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่อ่อนตัวลง รวมถึงการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมลดลง

ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ธุรกิจเคมิคอลส์มีรายได้จากการขาย 53,905 ล้านบาท ลดลง7% จากไตรมาสก่อน จากราคาขายของผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง แต่เพิ่มขึ้น 4%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 5,415 ล้านบาท ลดลง 28% จากไตรมาสก่อน และลดลง 43 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมลดลง และมีการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ

ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 182,952 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 %จากปีก่อน ตามการขยายตัวของความต้องการใช้ซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

รวมถึงการฟื้นตัวของโครงการอสังหาริมทรัพย์ และการขยายตัวของการก่อสร้างในภูมิภาค โดยมีกำไรสำหรับปี 5,984 ล้านบาท ลดลง 7% จากปีก่อน สาเหตุหลักจากการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ทั้งนี้ เมื่อไม่รวมการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี กำไรสำหรับปีจะเท่ากับ 7,304 ล้านบาท

ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 45,728 ล้านบาท ลดลง 1% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของการก่อสร้างในประเทศไทยและในภูมิภาค

โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 488 % จากไตรมาสก่อน ผลจากการปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 และเพิ่มขึ้น 49 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้นในไทยและภูมิภาคอาเซียน

product4

ธุรกิจแพคเกจจิ้งรุ่ง

ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ในปี 2561 มีรายได้จากการขาย 87,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7 % จากปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับปี 6,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36 % จากปีก่อน จากโครงการลดต้นทุนของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เติบโตต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีรายได้จากการขาย 21,283 ล้านบาท ลดลง 4% จากไตรมาสก่อน และลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการขายที่ลดลงทั้งในธุรกิจบรรจุภัณฑ์และธุรกิจเยื่อและกระดาษ โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,492 ล้านบาท ลดลง13 % จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 23 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับเงินปันผล คณะกรรมการบริษัท ได้มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2561 ในอัตราหุ้นละ 18.00 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 48 % ของกำไรสำหรับปีตามงบการเงินรวม ทั้งนี้บริษัทได้จ่ายเป็นเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกไปแล้ว ในอัตราหุ้นละ 8.50บาท เป็นเงิน 10,200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายในอัตราหุ้นละ 9.50 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 11,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท ตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน2562  โดยมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2562 และให้รับเงินปันผลภายใน 10 ปี

Avatar photo