Economics

ใกล้คลอด! ‘กรมราง’ คุมมาตรฐานรถไฟฟ้า สัมปทานเก่า 5 สายรอด

เตรียมคลอด ‘กรมการขนส่งทางราง’ เดือน เม.ย.นี้ รับหน้าที่คุมมาตรฐานรถไฟ-รถไฟฟ้า-ไฮสปีด แต่อำนาจไม่ครอบคลุมสัมปทานรถไฟฟ้าเก่า 5 สาย  

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง) ในวาระที่ 3 เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมยังไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางได้ทันที เนื่องจากต้องรอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับก่อน  ได้แก่

1. กฎกระทรวงแบ่งกลุ่มภารกิจงาน โดยกรมการขนส่งทางรางจะอยู่ในกลุ่มขนส่งทางราง

2. กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของกรมการขนส่งทางราง ซึ่งมีการแบ่งส่วนราชการออกเป็น 5 กอง

3. กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของ สนข. เพื่อตัดภารกิจของกรมการขนส่งทางรางออกจาก สนข.

ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นต่อร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับเรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นจะนำร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ รวมเป็น 4 ฉบับ ประกาศราชกิจจานุเบกษาพร้อมกันและมีผลทันที โดยคาดว่าจะสามารถจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางได้เสร็จสมบูรณ์ประมาณเดือนเมษายนนี้

“พ.ร.บ.จัดตั้งกรมรางถือว่าจบแล้ว รอแค่ประกาศ ตอนนี้รอกฎกระทรวง 3 ฉบับเข้า ครม. ถ้าผ่านปุ๊บ ก็จะประกาศราชกิจจานุเบกษาและมีผลทันที ต่อไปจะเป็นการทำโครงสร้างอัตรากำลังและรายละเอียด คาดว่าก่อนสงกรานต์น่าจะจบ หลังจากนั้นก็จะมีกรมรางสมบูรณ์แบบ” นายสราวุธ กล่าว

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางจะจัดอัตรากำลังทั้งหมด 203 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 176 คนและพนักงานข้าราชการอีก 27 คน โดยจะโอนย้ายบุคลากรจาก สนข.ไปทั้งหมด 42 คน สำหรับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงประกอบด้วย อธิบดี 1 ตำแหน่ง, รองอธิบดี 1 ตำแหน่ง และวิศวกรใหญ่ 1 ตำแหน่ง

รถไฟฟ้า BTS

ดูแลรถไฟทางไกล-รถไฟฟ้า-ไฮสปีด

กรมการขนส่งทางรางจะมีหน้าที่กำกับดูแลผู้ให้บริการระบบรางทุกประเภททั้งรถไฟทางไกล, รถไฟฟ้าในเมือง และรถไฟความเร็วสูง ครอบคลุมหน่วยงานดังนี้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้เดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์, การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.), บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูง

ประเด็นที่กำกับดูแลมีตั้งแต่เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย, อัตราค่าโดยสาร, คุณภาพบริการ (Level of Service), การใช้ประโยชน์ในเขตทาง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ มาตรการลงโทษและปรับกรณีขบวนรถล่าช้า เป็นต้น เพื่อให้ผู้ให้บริการทุกรายมีมาตรฐานเดียวกัน

1 9
สราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร

อำนาจไม่ครอบคลุมสัมปทานเก่า

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากรมการขนส่งทางราง ยังไม่มีอำนาจกำกับดูแลสัมปทานรถไฟฟ้าสายเก่าและต้องให้เจ้าของสัมปทานเป็นผู้กำกับดูแลเช่นเดิม แต่ถ้าหากสัญญาสัมปทานหมดอายุ, มีการเปลี่ยนแปลงสัญญา หรือเปิดสัมปทานสายใหม่ ก็สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้

“ถ้ามันมีสัมปทานเดิมอยู่แล้ว โดยหลักการถือว่ายังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะถือว่ามีการ Commit กันเรียบร้อยแล้ว ที่กรมรางเข้าไปกำกับดูแลได้เต็มที่คืองานใหม่ที่กำลังเกิด หรือถ้าจะหมดสัมปทาน แล้วมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องไปดู สำหรับรถไฟฟ้า 5 เส้นทางในกรุงเทพฯ ที่เปิดเดินรถแล้ว ก็ต้องไปดูขอบเขตว่า กรมรางจะเข้าไป Handle ในช่วงเวลาไหน เช่น หมดสัมปทานหรือขยายขอบเขตของตัวสัญญา” นายสราวุธ กล่าว

สำหรับรถไฟฟ้า 5 สาย ที่เปิดให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ได้แก่ รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวอ่อน ช่วงหมอชิต-สมุทรปราการ และสายสีเขียวเข้ม ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า, รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน และสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-เตาปูน, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ

นอกจากนี้ในช่วงแรกๆ กรมการขนส่งทางรางจะมีอำนาจในมือเพียง 60% เพราะต้องรอการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ก่อน จึงมีอำนาจเต็ม 100% ปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของสํานักงานกฤษฎีกา จากนั้นจะส่งเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ต่อไป

ในระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ยังไม่มีผลบังคับใช้ กรมการขนส่งทางรางก็ต้องเชิญผู้บริหารการเดินรถทุกรายเข้ามาหารือและชี้แจงอำนาจหน้าที่ พร้อมลงนามความร่วมมือ (MOU) กันก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่รวบรวมมาตรฐานความปลอดภัยและเตรียมกฎหมายลูกเพื่อรองรับ พ.ร.บ.การขนส่งทางรางด้วย

รถไฟ5

Avatar photo