World News

‘พอล ครุกแมน’ ชี้ 4 ภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกทรุด

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เจ้าของรางวัลโนเบล เขียนบทความในหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ ของสหรัฐ ระบุถึง ปัจจัย 4 อย่าง ที่เขามองว่า กำลังเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลก

000 Was8870857
พอล ครุกแมน

เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดอันซับซ้อนที่มีอยู่ทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่า  วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดมีสาเหตุใหญ่มาจากเรื่องธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง คือ การเกิดภาวะฟองสบู่หนี้ และที่อยู่อาศัย ขนาดใหญ่ขึ้นทั้งในสหรัฐ และยุโรป และเมื่อฟองสบู่นี้เกิดแตกออก ก็ทำให้เศรษฐกิจโลกร่วงลง

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ในปี 2544 และมีความรุนแรงน้อยกว่า ก็เกิดมาจากสาเหตุเดียว คือ ฟองสบู่การลงทุน และหุ้นเทคโนโลยีแตก

แต่การซบเซาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ในช่วงปี 2533-2534 เป็นเรื่องราวที่ยุ่งเหยิงมากกว่า เป็นภาวะขาลงที่เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ไล่ตั้งแต่ปัญหาจากสถาบันกการเงิน ไปจนถึงจำนวนอาคารสำนักงานที่มีล้นตลาด และการใช้จ่ายทางทหารที่ลดลง จากการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น

การคาดเดาที่ดีที่สุดก็คือ ภาวะเศรษฐกิจขาลงครั้งต่อไป น่าจะเป็นคล้ายคลึงกัน คือเกี่ยวข้องกับปัญหาหลายๆ อย่าง แทนที่จะเป็นเรื่่องใหญ่ๆ เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น และในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราก็เริ่มเห็นวิธีการที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว  แต่ไม่ใช่เรื่องที่ว่าภาวะถดถอยกำลังก่อตัวขึ้น แต่เป็นเรื่องที่ว่า ความกังวลในบางเรื่องของเรากำลังเริ่มจะกลายมาเป็นความจริง

ในขณะนี้ ผมมองเห็นภัยคุกคามห่างๆ ของเศรษฐกิจโลก อยู่ 4 ด้านด้วยกัน

จีนเริ่มชะลอตัว

ผู้คนจำนวนมาก รวมถึง ตัวผมด้วย ต่างคาดการณ์ถึงการเกิดวิกฤติจีนมาเป็นเวลาช้านานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเสียที เศรษฐกิจจีนมีความไม่สมดุลสูงมาก จากการลงทุนที่มากเกินไป ขณะที่ผู้บริโภคก็ใช้จ่ายน้อยเกิน แต่ครั้งแล้วครั้งแล่า รัฐบาลจีนก็สามารถคัดหางเสือ พาเศรษฐกิจหนีห่างออกมาจากความเสี่ยงได้ ด้วยการเพิ่มการก่อสร้าง และสั่งให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อแบบง่ายดายมาก

im 18733

แต่วันที่คาดการณ์ไว้กำลังจะมาถึงหรือเปล่า เมื่อพิจารณาจากความยืดหยุ่นของจีนที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้สึกมั่นใจ แม้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการผลิตของจีนจะดูมืดหม่นอยู่ก็ตาม

ปัญหาในจีนยังอาจส่งผลกระทบต่อทั่วโลก เรามักจะคิดว่า จีนเป็นเพียงผู้นำในการส่งออก แต่จีนก็เป็นผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโภคภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ถั่วเหลือง และน้ำมัน เกษตรกร และผู้ผลิตพลังงานสหรัฐ อาจจะไม่มีความสุขอย่างมากถ้าเศรษฐกิจจีนตกอยู่ในภาวะชะงักงัน

เศรษฐกิจยุโรปอ่อนแอ

เป็นเวลานานหลายปีแล้ว ที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจอันอ่อนแอของยุโรป อันเนื่องมาจากประชากรสูงวัย และการทำงบประมาณเกินดุลอย่างต่อเนื่องของเยอรมนี ถูกปกปิดไว้ด้วยการฟื้นตัวจากวิกฤติเงินยูโร แต่ดูเหมือนว่า โชคดีที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดกำลังจะถึงจุดยุติลงแล้ว ท่ามกลางภาวะไร้เสถียรภาพที่อยู่รายล้อมเบร็กซิท และวิกฤติที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ในอิตาลี ซึ่งกำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นอยู่ ทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เหมือนกับของจีน ที่ไม่น่าดูนัก

ยุโรปยังมีความเหมือนจีน ในเรื่องที่ว่า เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในเศรษฐกิจโลก ฉะนั้น หากเศรษฐกิจยุโรปเกิดสะดุดขึ้นมา ก็จะส่งผลกระทบไปถึงทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐ

สงครามการค้ากระทบทั่วโลก

ช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกต่างทุ่มลงทุนเป็นจำนวนเงินมหาศาล บนความเชื่อที่ว่า ลัทธิปกป้องการค้าแบบเก่า กลายเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เพียงแต่เรียกเก็บภาษีในอัตราสูงเท่านั้น เขายังแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะล่วงละเมิดข้อตกลงการค้าที่มีอยู่ ซึ่งต่อให้ไม่ใช่คนที่ยึดมั่นในหลักการค้าเสรี ก็รู้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้จะส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ

ในขณะนี้ มีรายงานว่า บรรดาแกนนำภาคธุรกิจยังเชื่อว่า ทุกอย่างยังอยู่ภายใต้การควบคุม ทั้งสหรัฐ และจีน จะบรรลุข้อตกลงกันได้ แต่ถ้าความรู้สึกนี้อาจเกิดกลับด้านอย่างทันควัน ถ้าในอนาคตธุรกิจตระหนักว่า ดูเหมือนพวกสายแข็งยังเป็นฝ่ายที่คุมสถานการณ์อยู่

China and United States

ชัตดาวน์ทำเสียหายหนัก

ไม่ใช่แค่เพียงลูกจ้างรัฐบาลสหรัฐเท่านั้น ที่ไม่ได้รับเงิน แต่ยังรวมถึงอีกหลายฝ่าย อาทิ ผู้รับเหมา ซึ่งไม่มีทางเรียกส่วนที่ขาดทุนกลับคืนมาได้ และผู้รับสแตมป์ปันอาหาร ที่จะไม่ได้รับคืนส่วนที่โดนงดไป ซึ่งแน่นอนว่า การประเมินความเสียหายโดยรวมที่เกิดจากภาวะชัตดาวน์นั้นต่ำเกินไป เพราะไม่ได้รวมเอาความติดขัดของกระบวนการนอกภาครัฐ ที่กระทบต่อทุกชีวิตเข้าไปด้วย

เรื่องนี้ก็เหมือนกับกรณีของสงครามการค้า ที่มีรายงานว่าแกนนำภาคธุรกิจต่างเชื่อว่า ในไม่ช้าปัญหาชัตดาวน์จะแก้ไขไปได้ แต่อะไรจะเกิดขึ้นกับการลงทุน และจ้างงาน ถ้าในอนาคต ภาคธุรกิจอเมริกันได้ข้อสรุปว่า ทรัมป์ต้อนตัวเองจนมุมเอง และเรื่องนี้อาจยืดเยื้อต่อไปอีกหลายเดือน

นอกจากนี้ ยังมีความผิดพลาดอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับว่าจะมากน้อยเพียงใด

ข่าวดีอยู่ตรงที่ว่า ต่อให้นำปัจจัยลบทั้งหมดนี้มารวมกัน ก็ยังไม่รุนแรงถึงขนาดที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในเลวร้ายเหมือนกับวิกฤติการเงินปี 2551 ส่วนข่าวร้ายก็คือ ยังไม่ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายจะสามารถทำ หรือจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อรับมือกับความผิดพลาดในเรื่องต่างๆ

  • นโยบายการเงิน
    การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และประเทศอื่นๆ ถือเป็นเครื่องมือปกติที่จะถูกนำมาใช้เป็นอย่างแรกเพื่อป้องกันภาวะถดถอย แต่เฟดเหลือพื้นที่น้อยมากสำหรับการลดดอกเบี้ย เพราะปัจจุบันก็อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว และในยุโรป อัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในแดนลบ ไม่เหลือพื้นที่ให้ลดลงไปอีกแล้ว
  • นโยบายการคลัง
    การเพิ่มงบใช้จ่ายของรัฐบาล และให้ความช่วยเหลือแรงงานที่มีสถานะไม่มั่นคงเป็นการชั่วคราวนั้น ถือเป็นเรื่องปกติของการสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย แต่ประธานาธิบดีซึ่งจับบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐเป็นตัวประกัน เพื่อให้ได้กำแพงกั้นชายแดนที่ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ จะเต็มใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างสมเหตุสมผลหรือเปล่า และในยุโรป จะมีข้อเสนอใดๆ สำหารับการเคลื่อนไหวด้านการคลัง เพื่อรับมือกับเยอรมนีหรือไม่

39618dc246a483bff42b9469d5872019323a0492

Avatar photo