World News

ร่วง 3 อันดับ ไทยติดลำดับ 99 ดัชนีคอร์รัปชันโลก

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทีไอ) เผยแพร่ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในภาครัฐทั่วโลก (ซีพีไอ) ประจำปี 2561 พบว่า ไทยได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ติดอยู่ในอันดับ 99 จากทั้งหมด 180 อันดับ ร่วงลงมาจากอันดับ 96 เมื่อปี 2560 ซึ่งได้คะแนน 37 คะแนน  ทั้งที่เคยทำอันดับได้ดีขึ้นจากเมื่อปี 2559 ที่เคยอยู่ในอันดับที่ 101 ได้คะแนน 35 คะแนน

ttt

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทั้งอันดับและคะแนนของไทยลดลง มาจากระบบราชการที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการรับสินบนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่สะสมมานาน และช่วงที่ผ่านมา องค์กรต่างๆ ในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันค่อนข้างอ่อนแอลง

ทีไอซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ระบุว่า ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันครั้งล่าสุด สะท้อนให้เห็นว่าความพยายามปราบปรามคอร์รัปชันทั่วโลกหยุดชะงัก ทั้งการวิเคราะห์ยังพบว่า ยิ่งเกิดการคอร์รัปชันมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งก่อให้เกิดวิกฤติประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในประเทศที่โน้มเอียงไปในแนวทางของการมีผู้นำเผด็จการหรือประชานิยม

“คอร์รัปชันเป็นตัวทำลายประชาธิปไตย และนำไปสู่วงจรอุบาทว์ บ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย และเมื่อสถาบันมีความอ่อนแอ ก็จัดการกับการคอร์รัปชั่นไม่ได้” แพทริเซีย โมเรียรา ผู้อำนวยการทั่วไปทีไอ ระบุ

ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นในภาครัฐทั่วโลกในปีที่แล้วชี้ว่า 2 ใน 3 ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทำคะแนนได้ไม่ถึง 50 คะแนน ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นโดยทำคะแนนได้ 36 คะแนน ขณะที่คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 43 คะแนน

ประเทศที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของซีพีไอ ได้แก่ เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ โดยทำคะแนนได้ 88 และ 87 ตามลำดับ ประเทศรั้งท้ายได้แก่ โซมาเลีย ได้ 10 คะแนน เซาท์ซูดาน และซีเรีย ได้ 13 คะแนนเท่ากัน

glo

ทีไอระบุด้วยว่าสหรัฐ เป็นประเทศที่น่าจับตามอง เพราะคะแนนซีพีไอ ลดลง 4 คะแนนมาอยู่ที่ 71 คะแนน และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2554 ที่สหรัฐตกจากประเทศที่เคยติด 20 อันดับแรกของดัชนี สิ่งนี้เกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐเริ่มมีปัญหาทั้งในเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล และบรรทัดฐานทางจริยธรรมของบุคคลในระดับผู้นำ

บราซิลเป็นอีกประเทศที่คะแนนซีพีไอลดลงต่ำสุดในรอบเจ็ดปี  โดยทีไอชี้ว่าแม้ประธานาธิบดีบราซิลให้คำมั่นว่า จะปราบปรามคอร์รัปชั่น แต่การประกาศชัดเจนว่าจะปกครองประเทศด้วยการใช้ไม้แข็งคุมเข้มนั้นกลับเป็นภัยคุกคามต่อหมุดหมายทางประชาธิปไตยของประเทศอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคนั้น ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดคือ นิวซีแลนด์ ที่ 87 คะแนน กลายเป็นประเทศผู้นำการต่อต้านคอร์รัปชันของภูมิภาคนี้ และอันดับ 2 ของโลก

ส่วนประเทศที่ได้คะแนนตามมาเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคคือ สิงคโปร์ ที่ 85 คะแนน และออสเตรเลียที่ 77 คะแนน ขณะ 3 ประเทศท้ายตารางของเอเชียแปซิฟิค คือ เกาหลีเหนือได้คะแนนน้อยสุด ที่ 14 คะแนน อัฟกานิสถาน 16 คะแนน และกัมพูชา 20 คะแนน

ทีไอชี้ว่า การที่เอเชียแปซิฟิคมีคะแนนเฉลี่ยของทั้งภูมิภาคแค่ 44 คะแนนเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นว่า ภูมิภาคนี้มีความก้าวหน้าน้อยมากในการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถาบันด้านประชาธิปไตย และสิทธิด้านการเมือง ที่อ่อนแอ

Avatar photo