Economics

‘สบพ.’ เล็งผลิตช่างซ่อมเครื่องบินเพิ่ม 3 เท่า

“สบพ.” เล็งผลิตช่างซ่อมเครื่องบินเพิ่ม 3 เท่า พร้อมจับมือ “แอร์บัส” ยกมาตรฐานหลักสูตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 ม.ค.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน ระหว่างสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบิน 4 ราย ได้แก่ บริษัท แอร์บัส ผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำของโลก, บริษัท ไทรอัมพ์ เอวิเอชั่น เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด ผู้ออกแบบ ผลิต และซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยาน, บริษัท ไทรอัมพ์ สตรัคเจอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตและซ่อมแซมชิ้นส่วนโครงสร้างอากาศยาน และบริษัท ซีเนียร์ แอโรสเปซ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีคุณภาพสูง

สถาบันการบินพลเรือน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันการบินพลเรือนเปิดหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่แล้ว แต่ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้หลักสูตรมีความก้าวหน้า เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และได้มาตรฐานสากลมากขึ้น เช่น ความร่วมมือกับบริษัท แอร์บัส เพื่อพัฒนาหลักสูตรด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน จากเดิมที่หลักสูตรได้มาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) อยู่แล้ว ก็เพิ่มให้เป็นหลักสูตรที่ได้มาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) ด้วย โดยจะใช้เวลาเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิม 6 ภาคเรียน เป็น 7 ภาคเรียน

“สบพ. ตั้งเป้าว่าตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป จะผลิตบุคลากรด้านช่างให้เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปัจจุบันผลิตได้ 120 คนต่อปี เป็น 350 คนต่อปี และจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 800 คนต่อปี” นายอาคมกล่าว

ดอนเมือง สนามบิน แอร์เอเชีย

พลเรือตรีปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน กล่าวว่า ขณะนี้บุคลากรด้านการบิน ทั้งนักบิน และช่างซ่อมอากาศยานของไทย ยังไม่อยู่ในภาวะขาดแคลน และหากผลิตบุคลากรได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็จะเพียงพอรองรับกับอุตสาหกรรมการบินของไทยที่จะเติบโตขึ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ตามในปี 2564 ยังมีแผนป้อนบุคลากรด้านการบินสู่กลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามตามนโยบายรัฐบาลด้วย

Avatar photo