CEO INSIGHT

เปิดเส้นทางสู่ ‘เจ้าแห่งทุน’ : เจริญ สิริวัฒนภักดี ‘ยึดตลาดน้ำเมา’

ตอนที่ 2 :  ยึดตลาดน้ำเมา 

หลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 นอกจากเยียวยาผลกระทบจากคลื่นวิกฤติเศรษฐกิจต่อธุรกิจในกลุ่มแล้ว “เจริญ” ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้ง คือเตรียมตัวรับมือการเปิดเสรีอุตสาหกรรมสุราในปี 2542 (ก่อนยืดไปเป็นเป็นปี 2543 )

โจทย์ใหญ่ของเจริญเวลานั้น  คือ เตรียมทุนสำหรับประมูลโรงเหล้าของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย โรงกลั่นเหล้าบางยี่ขัน(2)” สังกัดกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และ โรงกลั่นเหล้า 12 แห่ง สังกัดกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง  และคืนหนี้แบงก์ที่กู้มาประมูลโรงกลั่นเหล้าครั้งก่อน

“เจริญ” รับมือ ช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งนั้นด้วย กระบวนท่า

  • หนึ่ง  โหมผลิตตุนสต็อกเหล้า
  • สอง  ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่
  • สาม  ระดมเงินทุนก้อนโต

กลุ่มบริษัทสุรามหาราษฎร์ ซึ่งถือสัมปทานสุราอยู่เวลานั้น โหมผลิตสุราเพื่อตุนสต็อกตั้งแต่ปี 2539 (ก่อนเปิดเสรีสุรา  ปี) ประมาณกันว่าสต็อกเหล้าเวลานั้นอยู่ระหว่าง 40,000-50,000 เท ( หนึ่งเทเท่ากับ 20 ลิตร) สามารถกุมส่วนแบ่งตลาดสุราทุกประเภทไม่น้อยกว่า 75% นาน 3 ปี หลังเปิดเสรี

ตามมาด้วยปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำเมาครั้งใหญ่ ด้วยการชูบริษัทแสงโสม (บริษัทในกลุ่มเจริญ) ขึ้นเป็นเรือธง เพิ่มทุนจาก 5,000 ล้านบาทเป็น 20,000 ล้านบาท ถ่ายโอนผู้ถือหุ้นจากบริษัทสุรามหาราษฎร์ (มหาชน) ซึ่งประกอบด้วยเจริญ และพันธมิตรเดิม อาทิ ตระกูลตันติวิวัฒน์พันธ์ ภัทรประสิทธิ์ เตชะไพบูลย์ ไชยวรรณ ฯลฯ

เจริญยังเข้าซื้อบริษัทสุรากระทิงแดง (1998) ของเฉลียว อยู่วิทยา และบริษัทยูไนเต็ด ไวน์เนอรี ของตระกูลชีวะศิริ พร้อมดึงร่วมทุน (ในบริษัทแสงโสม) เข้ามาภายหลังเพื่อกุมตลาดสุราอย่างเบ็ดเสร็จ โดยกลุ่มเจริญถือหุ้นใหญ่สุด 72.78 %   

บริษัทแสงโสม ที่เพิ่มทุนมโหฬารนั้นทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้งส์ เข้าไปถือหุ้นใน  4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ

  1. กลุ่มบริษัท 43 ประกอบด้วยบริษัทย่อยจำนวนหนึ่ง อาทิ บริษัท สราญชัย  บริษัท กาญจนสิงขร บริษัท แก่นขวัญ ฯลฯ กลุ่มนี้ถูกวางภารกิจให้ทำหน้าที่ประมูล โรงเหล้าบางยี่ขัน (สัมปทานเดิมของ บริษัท สุรามหาราษฎร์ ) และ 11 โรงเหล้า (สัมปทานกลุ่มสุราทิพย์)   โดยบริษัท แสงโสมถือหุ้น 25% เท่ากัน
  2. กลุ่มบริษัทแอลเอสพีวี เป็นบริษัทเฉพาะกิจ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการระดมทุนให้เจริญ โดยบริษัทแสงโสมถือหุ้น 29%
  3. กลุ่มบริษัทเทพอรุณชัย บริษัทอธิมาตร
  4. กลุ่มบริษัทที่ทำหน้าที่ดูแลด้านจัดจำหน่าย

4ProductGroups 292

บริษัทแสงโสม (เจริญถือหุ้นใหญ่) เข้าถือหุ้นใน 4 กลุ่มบริษัทที่กล่าวข้างต้นกลุ่มละ 25 % เท่ากัน  และกระบวนท่าที่สามการระดมทุนด้วยการกู้และออกหุ้นกู้ราว 18,000 ล้านบาท โดยมี บริษัท เอสแอลพีวี เป็นกลไกสำคัญและมีสต็อกเหล้าที่โหมผลิตเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ปลายปี 2542 บริษัทในกลุ่มบริษัทแสงโสม ชนะประมูลโรงเหล้าสังกัดกรมสรรพสามิต 12 แห่ง มูลค่า 7,200 ล้านบาท และโรงงานสุราบางยี่ขัน (2) ราคา 8,251.99 ล้านบาท สูงกว่าราคาประเมิน 4,700 ล้านบาท 

เมื่อการประมูลโรงงานกลั่นสุราครั้งนั้นสิ้นสุดลง เจริญได้ก้าวขึ้นมากุมตลาดน้ำเมาอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะด้านหนึ่งเขาคือผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทแสงโสม ที่ชนะการประมูลโรงกลั่นเหล้า และอีกด้านตลาดสุราที่ประเมินว่ามีมูลค่ากว่า 50,000  ล้านบาท (ขณะนั้น) กลุ่มแสงโสมของเขาครองส่วนแบ่งการตลาดราว 75%  

ส่วนตลาดเบียร์ “เบียร์ช้าง” ที่เข้าตลาดด้วยกลยุทธ์ขายเหล้าพ่วงเบียร์ตั้งแต่ปี  2538 ก็กุมตลาดราว 60% ของตลาดรวม   

การประมูลโรงงานกลั่นสุราในช่วงรอยต่อยุคสัมปทานมาสู่เปิดเสรี จึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิตครั้งสำคัญของเจริญ และบริษัทแสงโสม ที่ก่อตั้งมาแต่ปี 2520 แต่การสร้างอาณาจักรน้ำเมาของเจริญยังไม่จบแค่นั้น

ในปี  2546  เจริญปรับโครงสร้างอาณาจักรน้ำเมาครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการรวบรวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำเมา และไร้แอลกอฮอล์ทั้งหมด 58 บริษัท (ขณะนั้น) เข้ามาอยู่ใต้ร่มธง บริษัทไทยเบฟเวอรเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ทยเบฟ “ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 20,000 ล้านบาท ก่อนเพิ่มทุนเป็น 22,000 ล้านบาทในปีเดียวกัน  ด้วยขนาดของธุรกิจไทยเบฟ ถือว่าอยู่แถวหน้าของวงการอุตสาหกรรมไทยแล้ว

thai bev logo

การปรับโครงสร้างอาณาจักรน้ำเมาของเจริญครั้งนั้น สะท้อนวิสัยทัศน์ของเจริญที่ตระหนักถึงเกมตลาดน้ำเมาที่เปลี่ยนไป หลังยุคสัมปทานถูกแทนที่ด้วยตลาดเสรี  และผู้ช่ำชองในตลาดน้ำเมาเช่นเขา มองเห็นโอกาสที่จะขยายเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่กว่าเดิม จากกระแสเขตการค้าในยุคเศรษฐกิจไร้พรมแดน และเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นส่วนตัว ความมุ่งมั่นที่จะเป็นเจ้าตลาดน้ำเมา

เป็นเรื่องยากที่จะสรุปลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงเหตุผลที่เจริญ และคุณหญิงวรรณา (ผู้ถือหุ้นใหญ่ไทยเบฟ) ซึ่งมีแนวบริหารอนุรักษ์นิยม ตัดสินใจนำไทยเบฟเข้าตลาดหุ้นในปี 2549  ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งของเจริญ   

มุมหนึ่งเป็นไปได้ว่า เพื่อเปิดช่องระดมทุนจากตลาดสำหรับการขยายธุรกิจ หรือเพื่อลดภาระหนี้จากการปรับโครงสร้างอาณาจักรธุรกิจน้ำเมาต่อเนื่อง นับจากปี 2543-2546 ฯลฯ

แผนเข้าระดมทุนตลาดหุ้นครั้งนั้น เจริญเผชิญปัญหาที่คาดไม่ถึง เมื่อ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานกองทัพธรรมจับมือกับ อนันต์ อัศวโภคิณ  ศิษย์เอกธรรมกาย รวมพลค้านการเข้าตลาดหุ้นของไทยเบฟด้วยเหตุผลเชิงศีลธรรม

ระหว่างการประท้วงในห้วงเดือนกรกฎาคม 2549 เจริญได้เจรจา พล.ต.จำลอง ขออย่าค้าน (ธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหุ้น) แต่ไม่สำเร็จ  สุดท้าย “ไทยเบฟ” ต้องถอยไปจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์แทน

Chamlong Srimuang 2008 12 27
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

ไทยเบฟเพิ่มทุนจาก 22,000 ล้านบาท เป็น 24,445.45 ล้านบาท ขายหุ้นเพิ่มทุน 2,444.45 ล้านหุ้น ขายราคา 0.28 ดอลลาร์สิงค์โปร์ เงินที่ได้จากระดมทุนเข้าตลาด 16,191 ล้านบาท  เกือบทั้งหมดถูกนำไปชำระคืนหนี้แบงก์ 

ผลประกอบการไทยเบฟ ปีนั้น (2549) กำไรขั้นต้น 28,473 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 85,579.51 ล้านบาท .

การเข้าเป็นกิจการจดทะเบียนในตลาดหุ้นของไทยเบฟ ถือว่าเรือธงอาณาจักรน้ำเมาของเจริญ ได้ผ่านหลักไมล์สำคัญอีกครั้ง และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการรุกระดับประเทศในช่วงเวลาต่อมา  

Avatar photo