Economics

วัยทำงานเตรียมตัว! ต่อไปขึ้น ‘รถไฟฟ้า’ ฟรี ออฟฟิศจ่ายตังค์

วัยทำงานเตรียมตัว! ต่อไปขึ้น รถไฟฟ้าฟรี ออฟฟิศจ่ายตังค์ คาดเริ่มใช้จริงอีก 5 ปีข้างหน้า

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เรื่องแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-Map 2 Blueprint) ปี 2561-2580 โดยหลังจากนี้ สนข. จะจัดทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการตามแผน M-Map 2 ต่อไป

ทั้งนี้ M-Map 2 ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเหมือน M-Map 1 แต่จะเน้นเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนและรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญคือ การส่งเสริมให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ หันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน แทนรถยนต์ส่วนตัว ด้วยการอุดหนุนค่าโดยสาร

รถไฟฟ้า บีทีเอส
แนวทางคือ การเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษีของภาคเอกชน จากปัจจุบันเอกชนจะนำบิลค่าน้ำมันของพนักงานมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แต่ต่อไปจะส่งเสริมให้ใช้บิลค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) เป็นต้น มาหักเป็นค่าดำเนินการแทน

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวอาจครอบคลุมไปถึงกลุ่มข้าราชการด้วย เพราะปัจจุบันข้าราชการไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานได้ โดย สนข. จะจัดทำรายละเอียดและคาดว่าจะหารือกับกระทรวงการคลังได้ภายในปีนี้

“การดำเนินมาตรการตรงนี้คงต้องแบ่งเป็นเฟสๆ เพื่อค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประชาชน เช่น ระยะแรกจะกำหนดให้นำบิลค่ารถไฟฟ้า ค่ารถเมล์ มาเบิกกับบริษัท แล้วให้บริษัทหักเป็นค่าดำเนินการได้เหมือนบิลค่าน้ำมัน แต่อีก 5 ปีถัดมา อาจกำหนดให้นำบิลค่าน้ำมันมาหักเป็นค่าดำเนินการไม่ได้อีกต่อไป ยกเว้นค่าน้ำมันในการขนส่งสินค้าเท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม การนำมาตรการดังกล่าวมาปฏิบัติจริงคงต้องรอจนกว่าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯและปริมณฑลตาม M-Map 1 จะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการประชาชนได้ทั้งหมดประมาณปี 2567 เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น

รถเมล์ 1

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวเป็นไปตามคำแนะนำขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) ซึ่งระบุว่า เมื่อประเทศญี่ปุ่นลงทุนระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าเมื่อ 70 ก่อน ก็ต้องมีมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ควบคู่กัน เพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะประสบความสำเร็จ

โดยประเทศญี่ปุ่นได้แก้ไขระเบียบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนที่เดินทางมาทำงานด้วยระบบขนส่งมวลชนสามารถนำบิลมาเบิกค่าใช้จ่ายได้ แตกต่างจากประเทศไทยตอนนี้ที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ ด้านพนักงานเอกชนส่วนใหญ่ก็เบิกได้เฉพาะค่าน้ำมันรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น

นอกจากการอุดหนุนค่าโดยสารแล้ว M-Map 2 ยังมีมาตรการอื่นๆ ซึ่งต้องหารือในรายละเอียดต่อไป เช่น ห้ามพนักงานที่อาศัยอยู่ในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร จากที่ทำงาน ขับรถมาทำงาน และการเก็บค่าธรรมเนียมการขับรถเข้าเมือง เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมระบบขนส่งมวลชน ประหยัดพลังงาน และลดมลภาวะในเมืองด้วย

รฟฟ.

Avatar photo