Economics

ยังคุยไม่จบ! จีนการันตี ‘ไฮสปีด’ 1 ปี ไทยต่อรองขอ 2 ปี

ยังคุยไม่จบ! จีนการันตี “ไฮสปีด” 1 ปี ไทยต่อรองขอเพิ่มเป็น 2 ปี โดยตั้งเป้าจะเจรจาให้จบและลงนามสัญญาซื้อระบบและขบวนรถ 3.8 หมื่นล้านบาทเดือนหน้า

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาทว่า ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนกำลังเจรจาสัญญาโครงการฉบับที่ 2.3 ซึ่งเป็นสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร มูลค่า 38,558 ล้านบาท เนื่องจากสัญญาฉบับนี้มีรายละเอียดจำนวนมากและหลายประเด็นยังไม่ได้ข้อสรุป

ประเด็นยังที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น การโอนงานและงบประมาณบางส่วนในสัญญาฉบับที่ 2.1 ซึ่งเป็นสัญญางานก่อสร้าง ให้มาอยู่ในสัญญาฉบับที่ 2.3 แทน เนื่องจากฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายจีนปรับรูปแบบการวางรางในสถานี จากระบบหินโรยทาง มาเป็นการใช้คอนกรีตเหมือนรางรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ฝ่ายจีนเสนอจะการันตีความรับผิดชอบตามสัญญาฉบับที่ 2.3 เป็นเวลา 1 ปี เพราะส่วนใหญ่ฝ่ายจีนก็มีระยะเวลารับประกัน 1 ปี แต่ฝ่ายไทยยืนยันว่าจะให้ขยายระยะเวลาเป็น 2 ปี ตามที่กฎหมายไทยกำหนด ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเช่นกัน

ระบบราง 190103 0031

ด้านการหาแหล่งเงินกู้เพื่อไปซื้อขบวนรถและระบบอาณัติสัญญาณของจีนตามสัญญาฉบับที่ 2.3 นั้น นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายจีนได้ส่งข้อเสนอเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กลับมาให้ฝ่ายไทยพิจารณาแล้ว โดยล่าสุดอัตราดอกเบี้ยของฝ่ายจีนต่ำกว่า 3% และอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่าสนใจ “กระทรวงการคลังก็ Happy กับตัวเลข” แต่ถ้าไม่จำเป็น ก็ยังไม่กู้ เพราะเรื่องนี้สามารถรอได้และกระทรวงการคลังก็ต้องพิจารณาแหล่งเงินกู้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์แต่ละช่วงด้วย โดยสัญญารถไฟไทย-จีน ฉบับที่ 2.3 ก็ไม่ได้กำหนดให้ต้องกู้เงินจากฝ่ายจีนเท่านั้น

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ถ้าหากฝ่ายไทยและฝ่ายจีนสรุปร่างสัญญาฉบับที่ 2.3 เรียบร้อยแล้ว ก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หลังจากนั้นจะนัดประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 ที่ประเทศจีนอย่างเป็นทางการ เพื่อลงนามสัญญาฉบับที่ 2.3 กับฝ่ายจีน

นอกจากนี้ การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างของบประมาณในการศึกษารูปแบบการจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน คาดว่าการศึกษาต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี โดยเบื้องต้น ครม. ให้หลักการว่าองค์กรแห่งใหม่นี้จะต้องเป็นอิสระจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และมีความคล่องตัวในการทำงาน

ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดคมนาคม
ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทยแจ้งว่า รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะเปลี่ยนรูปแบบการวางราง จากระบบหินโรยทาง มาเป็นรูปแบบคอนกรีต ประมาณ 60 กิโลเมตร ประกอบด้วย 3 ช่วง คือ 1.ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง, 2. สถานีบางซื่อ ,อยุธยา, สระบุรี และปากช่อง และ 3. ช่วงอุโมงค์ทั้งหมด คาดว่าจะทำให้งบลงทุนระบบอาณัติสัญญาณเพิ่มขึ้นอีก 3,000 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนวัสดุคอนกรีตแพงกว่าหินโรยทาง โดยการรถไฟฯ ก็จะต้องโอนงบประมาณส่วนนี้เข้าไปในสัญญาฉบับที่ 2.3 ซึ่งจะทำให้งบประมาณในสัญญานี้เพิ่มขึ้นเป็น 41,558 ล้านบาท

 

Avatar photo