Politics

รณรงค์ ‘Right to Clean Air’ นักวิชาการเปิดต้นตอฝุ่นพิษเมืองไทย

หลังจากที่หลายภาคส่วนเริ่มไม่พอใจกับมาตรการแก้ปัญหาของรัฐบาล ที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่เข้มข้นมากพอในการจัดการ กับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เสมือนละเลยกับปัญหาสุขภาพของคนไทย ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆเกิดขึ้นไปทั่ว และมีการลงมือศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ค่าฝุ่นด้วยตัวเอง เพื่อให้รู้ข้อเท็จจริง รวมถึงมีข้อเสนอมากมายกระตุ้นให้รัฐออกมาตรการแก้ไขป้องกันเป็นรูปธรรม ไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำในปีถัดไป

วันนี้ (25 ม.ค.) ในเวทีเสวนา “วิกฤติมลพิษ PM 2.5 ถึงเวลายกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศไทย” จัดโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกเวทีที่นักวิชาการและเอ็นจีโอมารวมกลุ่มกันถกเถียงถึงปัญหานี้ และทำข้อเสนอไปยังรัฐ พร้อมกับเปิดเผยรายงานการวิเคราะห์เบื้องต้นเรื่อง “มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนจากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ( PM 2.5) ในประเทศไทยและเพื่อนบ้าน ” 

20190125 141856

เผาที่กัมพูชาพัดฝุ่นละอองมาตกไทย

ดร.อริศรา เจริญปัญญาเนตร ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึงผลการศึกษาผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า เป็นการนำภาพถ่ายดาวเทียม TERRA/AQUA ระบบ MODIS มาตรวจหา และทำแผนที่ฝุ่นละออง ขนาด PM 2.5 และจุดความร้อน (Hot spot) ในพื้นที่ประเทศไทย และเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย เมียนมา ลาว และกัมพูชา ระหว่าง ปี 2559-2561 โดยอ้างอิงการกำหนดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ให้ PM 2.5 มาจากการกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชม.เป็น 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อให้การศึกษาวิเคราะห์สามารถเทียบเคียงกันได้ทั้ง 4 ประเทศ

แต่ละปีประเทศต่างๆจะมีค่าเฉลี่ย PM 2.5 ที่มีความเข้มข้นต้ั้งแต่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้สัมผัสไวต่อมลพิษแตกต่างกัน

  • ปี 2559 ประเทศที่มีค่าสูงสุด คือ ลาว คิดเป็น 95.72 % ของพื้นที่
  • ปี 2560 ประเทศที่มีค่าสูงสุด คือ ไทย และสปป.ลาว คิดเป็น 32%ของพื้นที่
  • ปี 2561 ประเทศที่มีค่าสูงสุด คือ ไทย คิดเป็น 60% ของพื้นที่

จากการศึกษาวิเคราะห์ถึงสาเหตุ พบว่า ค่ามลพิษจาก PM 2.5 มาจากหลายปัจจัย ทั้งนโยบายการบริหารจัดการ และป้องกันมลพิษทางอากาศในแต่ละปี รวมถึงภัยแล้งรุนแรงจากปรากฏการณ์เอลนิโญในช่วงปี 2558-2559 เป็นเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว(extreme weather event) ส่งผลให้เกิดการสะสมจุด Hot spot ในปริมาณมาก

สำหรับฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดในภาคกลางและกรุงเทพฯ ในช่วง 11-17 มกราคมปีนี้ สาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่ง เกิดในกัมพูชา แต่ลมประจำถิ่นพัดจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก จึงพาเอาควันไฟจากการเผาในที่โล่งของกัมพูชามาไทย ทำให้กัมพูชาซึ่งเป็นจุดที่มีการเผา ไม่มี PM 2.5 หรือมีน้อยมาก

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า 54% ของค่าฝุ่นละออง PM 2.5  มาจากการเผาในที่โล่ง ที่เหลือมาจากควันรถยนต์ มลภาวะจากโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม

“ข้อสรุปจากการศึกษาวิเคราะห์จึงเห็นว่า ปัญหาทั้งหมดจะไม่ได้รับการแก้ไขในระยะยาว หากไม่ได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันทุกหน่วยงานในประเทศไทยต้องร่วมมือกันอย่างเต็่มที่ด้วย” ดร.อริศรา กล่าว

20190125 180910

จัดลำดับ10 เมืองค่าฝุ่นสูงปี 61

ขณะที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการตามติดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องต้้งแต่ปี 2558 ปีล่าสุด 2561 ได้จัดอันดับเมืองที่มีปัญหา 10 อันดับที่ต้องเผชิญ กับมลพิษ PM 2.5 คือ

  1. ตำบล มหาชัย อำเภอ เมือง จังหวัดสมุทรสาคร
  2. ตำบล แม่ปะ อำเภอ แม่สอด จังหวัดตาก
  3. ตำบล ทรงคะนอง อำเภอ พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
  4. ตำบล ศรีภูมิ อำเภอ เมือง จังหวัดเชียงใหม่
  5. ตำบล ช้างเผือก อำเภอ เมือง จังหวัดเชียงใหม่
  6. ตำบล แม่เมาะ อำเภอ แม่เมาะ จังหวัด ลำปาง
  7. ตำบล หน้าพระลาน อำเภอ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี
  8. ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ
  9. ตำบล ในเมือง อำเภอ เมือง จังหวัด ขอนแก่น
  10. ริมถนนอินทรพิทักษ์ ธนบุรี

ข้อค้นพบของกรีนพีซ ระบุว่าใน 10 อันดับแรกนี้ มีจำนวนวันที่มีความเข้มข้นของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐานของประเทศไทยที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่ระหว่าง 19-68 วัน

เมื่อเปรียบเทียบกับข้อ แนะนำของ WHO ที่ระบุว่า ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่ควรเกินค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มากกว่า 3 วันในช่วงเวลา 1 ปี จะพบว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองมีความเสี่ยงสูง จากการรับสัมผัสมลพิษ PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานเป็นระยะเวลานาน

20190125 144125

อาศัยเวทีอาเซียนจับมือเพื่อนบ้านแก้ปัญหาร่วม

นายธารา บังคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า หากไม่มีมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศที่ก้าวหน้า ผลที่จะเกิดขึ้น คือ วิกฤติด้านสาธารณสุข มีแนวโน้มจะขยายวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยง จึงเสนอให้ภาครัฐดำเนินการดังนี้

1.ให้กรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในการยกร่างมาตรฐานในบรรยากาศของ PM 2.5 ขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทย โดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2562 ให้ใกล้เคียงข้อกำหนดของ WHO ในฐานะที่เราก้าวพ้นจากประเทศกำลังพัฒนาแล้ว

2. การที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนปี 2562 ควรใช้เวทีนี้ ในการขอความร่วมมือระหว่างประเทศ และผลักดันให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน HAZE-FREE 2020 อย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขฝุ่นละอองข้ามพรมแดนด้วยกัน

“ข้อเสนอของเราทำได้จริง แม้จะเป็นเรื่องยาก และใช้เวลา เช่น การปรับค่ามาตรฐานในบรรยากาศของ PM 2.5 แต่ก็ต้องตั้งเป้าหมาย ที่จะทำให้คุณภาพอากาศของประเทศไทยดีขึ้น โดยเชื่อว่าเมื่อค่ามาตรฐานเราสูงขึ้น จะมีการยกระดับมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้เข้มข้นขึ้นตามไปด้วย ” นายธารา กล่าว

ต้องออกกฎบังคับป้องกันฝุ่นจากแหล่งกำเนิด

ในเวทีเดียวกัน นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เสนอมาตรการที่ทำได้เลย  โดยอาศัยช่องทางของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยกร่างดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพ (Air Quality Health Index ) เพื่อนำไปสู่การวางกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในการปฏิบัติ ตามลำดับความเข้มข้นของค่าฝุ่นละออง เช่น ใส่หน้ากาก ไปจนถึงให้โรงเรียนหยุดเรียน เป็นต้น

“ไม่ได้เห็นด้วยกับการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เพราะหลายพื้นที่ที่ประกาศ เช่น มาบตาพุด ค่ามลพิษก็ยังสูง ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น และกระทบกับหลายเรื่อง เพราะต้องควบคุมมลพิษอื่นๆทั้งหมด แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องวางมาตรการเตรียมการล่วงหน้าเป็นลำดับขั้นอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา เพราะรู้อยู่แล้วว่าในช่วงนี้ของทุกๆปีจะเกิดปีญหา ไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหาเกิดแล้ว มาออกมาตรการ ไม่เช่นนั้นปี 2563 ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก  ”  นายสนธิ ระบุ

ฝุ่น

ขณะที่ ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร บอกว่า ก่อนอื่นรัฐจะต้องยอมรับเสียก่อนว่า ค่าฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เป็นปัญหาแล้ว เพื่อให้มาตรการต่างๆดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้น ไม่เช่นนั้นปัญหาจะเกิดขึ้นอย่างนี้ทุกๆปี และเกิดภาพแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วง 3 เดือนนี้ในทุกๆปีเช่นเดียวกัน

ประเด็นสำคัญก็คือ การวางกฎข้อบังคับกับแหล่งกำเนิดให้เข้มงวดและจริงจังมากขึ้น และต้องทำล่วงหน้า ตั้งแต่ขั้นตอนอนุมัติอนุญาติ  เช่น โรงงานอุตสาหกรรม และโครงการขนาดใหญ่อย่างรถไฟฟ้า ที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง โดยรัฐต้องกำหนดให้โครงการเหล่านี้เสนอมาตรการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองมาด้วย เป็นต้น

ขณะนี้กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดแคมเปญรณรงค์  “Right to Clean Air ขออากาศดีคืนมา”  เชิญชวนประชาชนให้ร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกร่างมาตรฐานคุณภาพอากาศใหม่

Avatar photo