Economics

มอบ ‘ศอบต.’ ส่งเสริม 3 จังหวัดใต้ผลิตไฟฟ้าชีวมวล 120 เมกะวัตต์

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี 2018 ที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ไฮไลท์สำคัญของพีดีพีฉบับนี้ อยู่ที่การกำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้าระบบในช่วงปี 2561-2580 เป็นสัดส่วนจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ถึง 20,766 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตไฟฟ้ารวม ณ สิ้นแผนในปี 2580 รวม 77,211 เมกะวัตต์

จำนวนนี้มีการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนขนาดย่อมๆ ด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะกิจอยู่ด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศนอกเหนือจากจุดประสงค์ในการผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว  ใน 3 เรื่องสำคัญ โดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เล่าว่า ประกอบด้วยเรื่องดังต่อไปนี้ 

17763 1

1.กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมความมั่นคงของโรงไฟฟ้าในภาคใต้ ไปพร้อมกับการส่งเสริมการนำเศษวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้มาผลิตเป็นเชื้อเพลิง อาทิ ไม้ยาง หญ้า โดยหลักการจะให้ชุมชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และเชื่อมโยงสายส่งกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

สำหรับการดำเนินการทั้งหมดกระทรวงพลังงาน ได้มอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอบต.)เป็นหน่วยงานดำเนินงานเอง เนื่องจากทราบรายละเอียดในพื้นที่เป็นอย่างดี รวมถึงมีภารกิจในการดูแลความมั่นคงอยู่แล้ว

2. การผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง โดยเพิ่มการรับซื้ออีก 400 เมกะวัตต์ จากเดิมเปิดรับซื้อแล้ว 500 เมกะวัตต์ โดยสร้างความคล่องตัวให้กับผู้พัฒนา ด้วยการปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยเสนอ ให้โครงการที่ผลิตไฟฟ้าจากขยะที่ขายเข้าระบบภายใต้มาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) สามารถดำเนินการได้ในสถานที่ตั้งที่เป็นกรรมสิทธิ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษ หรือเอกชน

3.ส่งเสริมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน หรือ โซลาร์บนหลังคาบ้าน (โซล่าร์รูฟท็อป)  เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในช่วงกลางวัน ส่งเสริมการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน และหากเหลือเปิดให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบได้

โดยรัฐจะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินนี้ปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี เริ่มจากปีนี้เป็นต้นไป สำหรับการดำเนินการในรายละเอียด ได้มอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาแนวทางการดำเนินงานให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว

นอกเหนือจากโครงการดังกล่าว ในระยะ 20 ปีจากนี้กระทรวงพลังงานยังส่งเสริมโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP ) ประกอบด้วย ชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 546 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตใหม่ตามแผน 18,176 เมกะวัตต์

Avatar photo