Business

ส.คอนโดฯยื่นหนังสือ‘สมคิด’ช่วย700ลูกบ้าน‘แอชตัน อโศก’โอนไม่ได้

1796110
ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกกิติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกกิติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย กล่าวถึงกรณีปัญหาโครงการ “แอชตัน อโศก” อาคารชุดสูง 50 ชั้น 783 ยูนิต ที่จอดรถ 371 คัน ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ประสบปัญหาโอนไม่ได้เนื่องจากไม่มีทางเข้า-ออกโครงการ เพราะสัญญาเช่าพื้นที่เป็นทางเข้าออกโครงการ ติดปัญหากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

โดยพบว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าตรวจสอบนิติกรรมรฟม. ในการให้บริษัทอนันดาฯ เช่าทำทางเข้า-ออกมูลค่า 97 ล้านบาท ซึ่งกฎหมายจัดตั้ง รฟม.มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์มูลค่าเกิน 10 ล้านบาท ต้องทำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ผู้บริหารขณะนั้นตัดสินใจในระดับคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.

hl main

เรื่องนี้หากย้อนไปในช่วงเริ่มต้น  ที่ดินที่ตั้งโครงการแอชตัน แห่งนี้ในอดีตทางเจ้าของที่ดิน ถูกรฟม.เวนคืนจนกลายเป็นที่ดินตาบอดไม่มีทางเข้า-ออก ซึ่ง รฟม.ได้ทำ MOU กับเจ้าของที่ดินว่าจะต้องมีทางเข้า-ออกให้ ต่อมาเจ้าของที่ดินได้ขายต่อให้กับนิติบุคคล คือบริษัทอนันดาฯ ภาระผูกพันในการใช้ทางเข้า-ออกจึงติดมากับกรรมสิทธิ์ที่ดิน และบริษัทอนันดาฯได้ขอเช่าที่ดิน รฟม.ทำทางเข้า-ออกดังกล่าว

นอกจากนี้ก็มีการร้องเรียน เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและตัวแทนชุมชนถนนสุขุมวิท ซอย 19 แยก 2 ได้เดินทางไปยื่นฟ้องกับศาลปกครองกลาง โดยยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 5 แห่ง ประกอบด้วย ผู้อำนวยการเขตวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และผู้ว่าราชการ กทม. ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เรื่องราวบานปลายถึงขั้น สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง 3 ข้อ ดังนี้

  • ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก
  • ขอให้แก้ปัญหาทางสาธารณะในซอยสุขุมวิท 19 แยก 2 ส่วนที่บริษัทยึดครองกลับมาเป็นสาธารณประโยชน์ดังเดิม
  • ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ รฟม.อนุญาตให้ใช้ที่ดินที่ได้จากการเวนคืนเป็นทางเข้าออกโครงการ ปัจจุบันคดีฟ้องร้องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

interior 02

ร้องรัฐพิจารณารอบคอบเพื่อเป็นแนวปฏิบัติิิ

กรณีนี้เรื่องทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอนกฎหมาย การร้องศาลปกครอง ซึ่งนายประเสริฐ กล่าวว่า ทางสมาคมฯได้ติดตามเรื่องนี้ และทราบว่าผู้ประกอบการ คือ บริษัทอนันดาฯ ได้ดำเนินการทุกอย่างตามตาม ระเบียบของกฎหมาย ในการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง โดยสุจริต ไม่มีการบิดพริ้วใดๆ

อยากให้รัฐคำนึงถึงประเด็นการดำเนินการตามกฎหมายของเอกชน ซึ่งทำทุกอย่างถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติ หากมีการเพิกถอนใบอนุญาตจริง จะกลายเป็นแบบอย่างสำหรับกรณีอื่นๆ

นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการช่วยคุ้มครองผู้ที่ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทางสมาคมอาคารชุดไทย จึงได้ทำหนังสือเมื่อช่วงหลังสงกรานต์ ยื่นต่อดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้ทบทวน กรณีนี้ ซึ่งหากมีการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างจริง จะกลายเป็นแบบอย่างใช้อ้างอิงในครั้งต่อไป ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับใบอนุญาตไม่ศักดิ์สิทธิ์ ต่อไปใครที่ได้รับอนุญาตแล้ว ก็มีโอกาสถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา บริษัทอนันดาฯ ได้ยื่นแบบ อ.6 เพื่อขอใบรับรองการก่อสร้างอาคาร โดยกทม.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าถูกต้องตามแบบก่อสร้างที่ยื่นมาหรือไม่ คือเป็นอาคารชุดสูง 50 ชั้น 783 ยูนิต ที่จอดรถ 371 คัน โดยมีการพิจารณาประเด็นเนื่องจากโครงการปฏิบัติตามข้อกฎหมายสิ่งแวดล้อมยังไม่ครบถ้วน ประกอบกับอยู่ระหว่างมีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง จึงต้องรอบคอบรัดกุมก่อนอนุมัติแบบ อ.6 โดยจะทำหนังสือเวียนถามความคิดเห็นหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อขอแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เช่น สำนักกฎหมาย กทม. ศาลปกครอง กรมโยธาธิการและผังเมือง ฯลฯ

อนันดาฯแจงทำตามกฎหมาย

ฝ่ายกฎหมายของ บมจ.อนันดาฯชี้แจงว่า การขอใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออกเป็นการอนุญาตตามประกาศ รฟม. และได้ออกหนังสืออนุญาตให้ โดยได้ยื่นเป็นหนังสือต่อราชการในการขออนุญาตก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่เรื่องการเช่า แต่เป็นการอนุญาตให้ใช้ที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ โดย รฟม.ได้มีแนวทางปฏิบัติในโครงการอื่น ๆ ตามสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครหลายโครงการ ซึ่งใช้แนวปฏิบัตินี้มาก่อนหน้านี้แล้ว

“การอนุมัติของ รฟม.ทำในรูปแบบคณะกรรมการ ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และสภาพความเป็นจริงที่ดินส่วน รฟม.อนุญาตให้บริษัทใช้กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของ รฟม.อยู่ และเห็นได้ชัดว่าอนันดาฯไม่ได้ไปขวางกั้นว่าจะใช้แต่เพียงผู้เดียว บุคคลหรือผู้สัญจรไปมาสามารถใช้ที่ดินได้ตามปกติ”

สำหรับความคืบหน้าคดีฟ้องร้องศาลปกครองกลาง มี 2 คดีโดยผู้ยื่นฟ้องร้องมีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับสยามสมาคมฯ ซึ่งฟ้องหน่วยงานราชการเพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้าง จึงเป็นเหตุให้มีผลกระทบกับทางโครงการ ซึ่งศาลได้เรียกอนันดาฯไปเป็นผู้ร้องสอบ และบริษัทได้เข้าไปชี้แจงต่อศาลไว้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล

 

Avatar photo