Wellness

กินอย่างไรคุม ‘เบาหวาน’ ให้อยู่หมัด

ทุกวันนี้คนไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ถึง 75 % หรือประมาณ 320,000 คนต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน และหนึ่งในโรค NCDs ที่มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 4 ก็คือ “เบาหวาน” รองจากหลอดเลือดสมอง หัวใจขาดเลือด และทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง 

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ออกมาย้ำถึงสาเหตุ และการควบคุมโรคเบาหวานให้อยู่หมัด จำเป็นต้องลด  หวาน มัน เค็ม รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยระบุว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นสิ่งสำคัญที่จะดูแลสุขภาพได้อย่างยั่งยืน

1601180201341 1
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์

นพ.ณัฐพงศ์  วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า  อาหารมีส่วนสำคัญในการรักษาโรคเบาหวาน ซึ่งคนเป็นเบาหวานมักละเลยในเรื่องของอาหารการกิน โดยอาจคิดว่าเมื่อได้ยาแล้ว คงหายเหมือนกับโรคทั่วไป ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่หายขาด การใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถควบคุมเบาหวานได้ ดังนั้น การควบคุมอาหารและรู้จักเลือกทานอาหารที่เหมาะสม ในปริมาณที่ถูกสัดส่วนกับความต้องการของร่างกาย ถือเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาและป้องกันโรคเบาหวานได้

หลักการรับประทานอาหารสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ไม่ได้แตกต่างจากหลักการรับประทาน เพื่อให้มีสุขภาพดีของคนทั่วไป คือ

  1. กินอาหารให้ครบหมู่
  2. กินให้ถูกสัดส่วน
  3. กินในปริมาณพอเหมาะ
  4. กินให้หลากหลาย

ทั้งนี้ เบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน หรือ การออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอินซูลิน หรือ ทั้ง 2 อย่างรวมกัน ทำให้ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลที่ได้รับจากอาหารมาเป็นพลังงานได้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

หากมีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน โดยไม่มีการควบคุม อาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ประกอบด้วย

  • อาการชาปลายมือปลายเท้า
  • จอประสาทตาเสื่อม
  • ไตวาย
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
1528355169387 1
พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์

พญ.วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เสริมว่า เบาหวานไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุดได้ โดยวิธีดังต่อไปนี้

  1. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  4. ควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ เพื่อลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

เบาหวาน

สำหรับเมนูผู้ป่วยเบาหวาน สถาบันฯแนะนำ 7 ข้อดังนี้

  1. รับประทานข้าว หรือแป้งที่มีกากใยสูง อย่างข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ ปริมาณ 1 กำมือต่อมื้อ
  2. ทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย ไม่ติดมัน และหนัง เช่น เนื้อปลา ไข่ขาว เต้าหู้  1 อุ้งมือ
  3. แต่ละมื้อควรรับประทานผักต้มสุก ประมาณ 2 อุ้งมือ โดยเน้นผักใบเขียว หลีกเลี่ยงข้าวโพด เผือก มัน ฟักทอง เนื่องจากให้แป้งสูง
  4. สามารถรับประทานผลไม้ได้ทุกวัน โดยทานวันละ 2-3 กำมือ โดยไม่จิ้มพริกเกลือ  
  5. หลีกเลี่ยงผลไม้แปรรูปทุกชนิด
  6. ดื่มนมรสจืดพร่องมันเนย หรือขาดมันเนย 1-2 แก้วต่อวัน หากเป็นนมถั่วเหลืองหรือ น้ำเต้าหู้ ควรเลือกชนิดหวานน้อย 1 แก้วต่อวัน
  7. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงขนมหวาน ชา และกาแฟ

Avatar photo