Business

‘เอสซีจี เซรามิกส์’ ยอดหดเหตุตลาดแข่งดุ-ต้นทุนพลังงานพุ่ง  

ตลาดกระเบื้องแข่งดุ-ต้นทุนพลังงานพุ่ง ฉุดผลประกอบการปี’61 “เอสซีจี เซรามิกส์” รายได้-กำไรลด เร่งสร้างความแข็งแกร่งด้วยกลยุทธ์การบริหารแบรนด์สินค้า ชูกระเบื้อง 3 แบรนด์หลัก คอตโต้-คัมพานา-โสสุโก้ ลงตลาดครบทุกช่องทาง เจาะทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมบุกขยายตลาด CLM

SGCC News
นายนำพล มลิชัย

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ “คอตโต้” (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และคัมพานา (CAMPANA)   เปิดเผยว่า  ผลประกอบการของ COTTO ในไตรมาสที่ 4/2561 บริษัทมีรายได้จากการขาย 2,713 ล้านบาท ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 3% จากไตรมาสก่อน และมีกำไร 66 ล้านบาท ลดลง 49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 160% จากไตรมาสก่อน

สำหรับผลประกอบการในปี 2561 บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 11,557 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560 ราว 11% มีกำไรสุทธิรวม 10 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 566 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดกระเบื้อง และต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับแผนการออกจากงานด้วยความเห็นชอบร่วมกัน ค่าที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบการจัดการ และปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท

booth cotto 2
บูธคอตโต้

ในปี 2561 บริษัทมีรายได้จากการส่งออก 2,534 ล้านบาท และรายได้จากการขายในภูมิภาคอาเซียน 1,833 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 4/2561 มีรายได้จากการส่งออก 527 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของยอดขายรวม ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีปริมาณขายในภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 17% ของปริมาณขายรวม เพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยสินทรัพย์รวมของ COTTO ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีมูลค่า 11,725 ล้านบาท

“ถึงแม้ไตรมาสที่ผ่านมาตลาดจะเติบโตขึ้น 1% จากราคาเกษตรที่สูงขึ้น และสัญญาณการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง แต่เมื่อมองในภาพรวมของทั้งปีจ ะเห็นว่าตลาดยังคงชะลอตัวอยู่ -2% ประกอบกับปัจจัยลบที่สำคัญคือต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ผลประกอบการของ COTTO ในไตรมาส 4 และโดยรวมปี 2561 มีรายได้ลดลง” นายนำพล กล่าว

ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ในปีนี้บริษัทจึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การบริหารแบรนด์สินค้า ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐาน และบริการของสินค้าทุกแบรนด์ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านดีไซน์ความสวยงาม คุณภาพสินค้าและบริการที่เหนือกว่า เมื่อเทียบกับสินค้าทั้งจากในและต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่มุ่งแข่งขันเรื่องราคาเป็นหลัก

ปัจจุบันสินค้ากระเบื้องเซรามิกของบริษัทมี 3 แบรนด์หลัก ได้แก่ คอตโต้ คัมพานา และโสสุโก้ โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่มีไลฟสไตล์แตกต่างกันอย่างชัดเจน

  • คอตโต้ (COTTO) เน้นกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และความล้ำสมัย ความสวยงามที่แตกต่างโดดเด่น เลือกสินค้าเพื่อสะท้อนตัวตนผู้ใช้งาน
  • คัมพานา (CAMPANA) เน้นความเรียบง่าย ให้อารมณ์อบอุ่น และสวยงามแบบธรรมชาติ
  • โสสุโก้ (SOSUCO) นำเสนอลวดลายที่มีความหลากหลาย สำหรับพื้นที่ใช้สอยทั่วไป เหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่ชอบความสะดวกสบายและสินค้าที่ใช้งานง่าย

ในส่วนของการขยายตลาดในต่างประเทศ นายนำพล เผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศ CLM หรือ กัมพูชา ลาว และพม่า โดยจะเน้นการวางรากฐาน และระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฐานลูกค้า และเครือข่ายการจัดจำหน่าย เพื่อความแข็งแกร่งของการขยายตลาดไปยังต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มช่องทางการขาย เพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงลูกค้าทุกระดับ โดยมีแผนงานเพิ่มสาขาพื้นที่ขาย “คลังเซรามิค” ในจุดที่ช่องทางจัดจำหน่ายในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมเป็น 100 สาขาภายใน 5 ปี เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ที่ชอบความสะดวกสบายในการซื้อสินค้า และต้องการสินค้าที่หลากหลายใช้งานง่าย

ปัจจุบัน “คลังเซรามิค” มีสาขาที่เปิดให้บริการแล้วรวม 25 สาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีพื้นที่การขายเฉลี่ยของแต่ละสาขามากกว่า 1,200 ตารางเมตร ทำให้บริษัทมีช่องทางจำหน่ายสินค้าครอบคลุมมากยิ่งขึ้น  เพิ่มเติมจากการขายสินค้าผ่านผู้แทนจำหน่าย โมเดิร์นเทรด และ Flagship Store ที่  คอตโต้ สตูดิโอ   เอสซีจี เอ็กซ์พีเรียนซ์ และ VOA Space ที่ จ.ขอนแก่น

cotto2
โชว์รูมคอตโต้

ในส่วนของการบริหารต้นทุน บริษัทมี่แผนงานเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิต โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานในโรงงาน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงานด้วย

โดยบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถปรับตัว รับมือกับสถานการณ์การแข่งขันรุนแรงในประเทศ และสามารถรักษาความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในประเทศไว้ได้ เนื่องจากได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งแผนงานระยะสั้น เพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแผนงานระยะยาวเพื่อมุ่งสร้างความแข็งแกร่งและหาแนวทางการเติบโตให้กับธุรกิจ

สำหรับภาพรวมตลาดในปี 2562 มีปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเซรามิก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อาจทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของนักลงทุนภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าในปี 2562 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จะเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา จากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่สูงขึ้น จึงทำให้ความต้องการใช้สินค้ากระเบื้องเซรามิก มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย โดยมีปัจจัยบวกที่เป็นโอกาสดีของธุรกิจวัสดุก่อสร้าง

โดยเฉพาะกลุ่มกระเบื้องปูพื้นและบุผนังจากโครงการ Mixed use หรือการก่อสร้างเพื่อการพาณิชยกรรมภายใต้แนวคิดการรวมกันของกลุ่มผู้อยู่อาศัยและกลุ่มการค้าเพื่อการพาณิชย์ ที่มีโครงการที่มูลค่าสูงกว่า 4 แสนล้านบาทซึ่งได้เริ่มทยอยก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไปยังพื้นที่ในเมืองอื่นๆ ที่มีศักยภาพ

รวมทั้งนโยบายภาครัฐ ที่ต้องการสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้แก่ผู้ที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ตลอดจนการปล่อยสินเชื่อพัฒนาโครงการ ให้แก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อก่อสร้างบ้าน  รวมถึงโครงข่ายคมนาคมรถไฟฟ้าและมอเตอร์เวย์ ที่ทำให้การเดินทางออกสู่ชานเมือง และต่างจังหวัดสะดวกขึ้น ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์พื้นที่ชานเมือง ปริมณฑลและจังหวัดทางตะวันออก

บริษัทเชื่อมั่นว่าปัจจัยบวกเหล่านี้ จะส่งผลให้ภาพรวมตลาดวัสดุก่อสร้างปี 2562  มีความคึกคักมากขึ้น

Avatar photo