Economics

คลอดแล้ว!! พีดีพี 2018 ไฮไลท์ค่าไฟต่ำ-ลดคาร์บอน

วันนี้( 24 ม.ค. )ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2562 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบ วาระที่สำคัญด้านพลังงาน ดังนี้

S 97263639

ไฟเขียวแผนพีดีพี 2018

กพช.เห็นชอบ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (พีดีพี 2018) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งแผนนี้เกิดจากการทบทวนสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน และได้จัดทำการพยากรณ์ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี อ้างอิงอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 3.8 % ตลอดแผนสอดคล้องกับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบ 3 การไฟฟ้า

รวมถึงพิจารณาความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มาจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือขายตรง (Independent Power Supply: IPS) ซึ่งตลอดแผนจะมีผู้ผลิตไฟฟ้ากลุ่มนี้เข้ามาทั้งหมด 8,000 เมกะวัตต์ จากที่เข้ามาแล้ว 1,400 เมกะวัตต์

ภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้า 01

ไฮไลท์พีดีพี 2018

นอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว แผนพีดีพี ฉบับนี้ ยังมาจากโรงไฟฟ้า 2 ส่วน ประกอบด้วย

  1. โรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ในช่วงปี 2561 – 2580 ประกอบด้วย รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์ในภาคใต้ รวม 520 เมกะวัตต์
  2. โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก( AEDP) กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่รวม 18,176 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย
  • ชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์
  • ก๊าซชีวภาพ 546 เมกะวัตต์
  • พลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 เมกะวัตต์
  • พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2,725 เมกะวัตต์
  • พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์
  • ขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 18,176 เมกะวัตต์

ในภาพรวมแล้ว ตามแผนจะมีสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิง ณ ปี 2580 ได้แก่ 

  1. เชื้อเพลิงฟอสซิล 65 % เป็นสัดส่วนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเหลือ 12% ที่เหลือเป็นก๊าซฯ
  2. เชื้อเพลิงอื่น 35 % มาจาก
  • พลังน้ำต่างประเทศ 9%
  • พลังงานหมุนเวียน 20 %
  • การอนุรักษ์พลังงาน 6 %

การลดสัดส่วนการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเสียน ทำให้การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ตามแผน สอดคล้องกับข้อตกลงของ COP21 ณ ปี 2580 เท่ากับ 0.283 kgCO2/kWh หรือ 103,845 พันตัน อย่างไรก็ตามกพช.ให้กระทรวงพลังงานมีการทบทวนแผนพีดีพีใหม่ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญ

17763

กพช.ให้การบ้านกดค่าไฟให้ต่ำ

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามแผนพีดีพี 2018  ค่าไฟฟ้าขายปลีก ในช่วงปี 2561 – 2580 อยู่ระหว่าง 3.50 – 3.63 บาทต่อหน่วย หรือเฉลี่ย 3.58 บาทต่อหน่วย โดยที่ประชุมกพช.กำชับให้กระทรวงพลังงานกำกับดูแลให้ค่าไฟฟ้าไม่แพงขึ้นกว่าปัจจุบัน

แนวทางหนึ่งของกระทรวงพลังงานที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับต่ำ ก็คือ การกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบของผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่ ที่จะผลิตไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมโรงของโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ จังหวัดราชบุรี ของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี  โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่จะหมดอายุในปี 2563 และโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน รวม 2 โรง ขนาดโรงละ 700 เมกะวัตต์

โดยจะเปิดให้เอกชนทั่วไปทั้งรายเดิม และรายอื่นๆเสนอแผนสร้างโรงไฟฟ้าเข้ามาใหม่ในพื้นที่เดิม ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง  ซึ่งกระทรวงจะพิจารณาข้อเสนอที่ดีที่สุด ประกอบด้วย 1.ต้องเสร็จให้ทันตามแผน หรือภายใน 4 ปี และ  2. ราคาค่าไฟฟ้าที่เสนอขายต้องไม่แพง และมีส่วนลดด้วย

สำหรับการเปิดประมูลรับซื้อผลิตไฟฟ้าเข้าระบบจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี)ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศนั้น มอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผนพีดีพี 2018 ทั้งการวางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับซื้อไฟฟ้า รวมถึงระยะเวลา พื้นที่ ปริมาณ และราคารับซื้อไฟฟ้า และเทคโนโลยีและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ให้คำนึงถึงประเด็นอื่นๆ ด้วย ได้แก่ ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ ความพร้อมและการยอมรับชนิดของเชื้อเพลิงในด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ปี 2561 2580 01

ปลดล็อกเอสพีพีหมดสัญญา 25 รายทำต่อ

นอกจากนี้กพช. ยังเห็นชอบให้ปรับปรุงช่วงเวลาการสิ้นสุดอายุสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) ระบบผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วม (โคเจนเนอเรชั่น) กลุ่มต่ออายุสัญญาให้ครอบคลุมเป็นปี 2559 – 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับมติ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ประเภทสัญญาแน่นอน (เฟิร์ม) ระบบ โคเจนเนอเรชั่น จำนวน 25 ราย

โดยให้เอสพีพี โคเจนเนอเรชั่นที่สิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2559 -2568 ได้รับการต่ออายุสัญญา หรือจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ก็ได้ แต่ต้องใช้เชื้อเพลิงตามสัญญาเดิม และได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าสอดคล้องกับประเภทเชื้อเพลิง

ในส่วนของโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงหลัก หากก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ค่าไฟฟ้า 2.81 บาทต่อหน่วย ที่ราคาก๊าซฯ 263 บาทต่อล้านบีทียู ส่วนโรงไฟฟ้าเก่าได้ค่าไฟฟ้า 2.37 บาทต่อหน่วยเป็นเวลา 3 ปี เกณฑ์นี้เป็นไปตามมติกพช.เดิม

ส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก มติกพช.ครั้งนี้ได้กำหนดอัตราราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 2.54 บาทต่อหน่วย หากเป็นโรงไฟฟ้าเก่ามาต่ออายุได้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 1.24 บาทต่อหน่วยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งในจำนวน 25 รายนั้นมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินอยู่ 5 โรง

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากเอสพีพี ทั้ง 25 รายที่ต่อสัญญาจะเป็นไปตามเกณฑ์เดิม คือ รับซื้อไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ อายุสัญญารับซื้อไฟฟ้า 25 ปี โดยทั้งหมดมอบให้กกพ. ไปดำเนินการต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าภายใต้หลักการตามมติ กพช. ดังกล่าว

Avatar photo