Startup

10 แง่คิดสร้างสตาร์ทอัพอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

10waysStartupSuccess

ในยุคที่ใคร ๆ ก็สนใจในความเป็นสตาร์ทอัพ รวมถึงเห็นความสำเร็จของสตาร์ทอัพหลาย ๆ รายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม “เวที STARTUP จับต้องได้” ที่จัดโดยนิตยสารโพสิชันนิงจึงได้เชิญสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ไฟแรงมาบอกเล่าประสบการณ์ รวมถึงแนะแนวให้กับผู้ที่สนใจอยากกระโดดเข้ามาในวงการนี้ให้เติบโตได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะประกอบด้วยอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ

มีเป้าหมายที่ชัดเจน เปิดตัวให้เร็ว และมีปัญหาให้น้อยที่สุด

คำกล่าวนี้มาจาก ชวัล เจียรวนนท์ ซีอีโอบริษัท สแนปอาส์ค ที่บอกว่า ภารกิจของสตาร์ทอัพในมุมของเขาคือการหาลูกค้าที่รักในสินค้าของเราให้เจอ และต้องเป็นลูกค้าที่รักมากจนชนิดที่ว่า ถ้าไม่มีโปรดักซ์ตัวนี้แล้วเขาจะเสียใจมาก ๆ

หามิชชั่นของตัวเองให้เจอ

เมื่อสแนปอาส์คเจอคนกลุ่มนี้แล้ว สิ่งที่พวกเขาทำเพิ่มเติมก็คือเชิญคนกลุ่มนี้มาสัมภาษณ์ เพื่อลงลึกไปถึงสิ่งที่อยู่ก้นบึ้งของจิตใจว่าแท้จริงแล้ว อะไรคือสิ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพของพวกเขาตอบโจทย์ความต้องการ

P1070482
ชวัล เจียรวนนท์

คิดต่างอย่างมีขั้นตอน และลงมือทำด้วยความรวดเร็ว

ผู้ที่กล่าวประโยคนี้คือ วรายุทธ เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด เจ้าของเทคโนโลยีอวกาศระดับโลกของไทยที่มีแผนจะยิงดาวเทียมสุดไฮเทคของตัวเองในปี 2563 รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

สตาร์ทอัพเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาที่เคยติดขัด

อภิโชค ประเสริฐรุ่งเรือง กรรมการฝ่ายการขนส่งและผู้ร่วมก่อตั้ง Airportels บริการรับฝากและจัดส่งกระเป๋าเดินทาง เผยถึงแนวคิดของเขาและทีมที่พบว่า กระเป๋าเดินทางเป็นอุปสรรคสำคัญของนักท่องเที่ยว หลาย ๆ คนไม่ต้องการจะแบกกระเป๋าเดินทางไปโรงแรมก่อนจึงจะเริ่มเที่ยว หากแต่ต้องการคนที่เข้ามาช่วยดูแลรับผิดชอบกระเป๋าให้เลย ซึ่งนั่นทำให้โอกาสของ Airportel เกิดและเติบโตขึ้น

พร้อมที่จะทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์

อีกหนึ่งแนวคิดที่อภิโชคกล่าวบนเวที นั่นคือการเป็นสตาร์ทอัพต้องพร้อมที่จะทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ และหลาย ๆ ครั้งเมื่อเริ่มงานแล้วก็ไม่มีเวลาเลิกงานด้วย หรือก็คือการบอกกลาย ๆ ว่าเป็นสตาร์ทอัพต้องอึดนั่นเอง

P1070499
อภิโชค ประเสริฐรุ่งเรือง

การทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ

หลาย ๆ คนเลือกทีมที่เข้าขากันเพื่อมาทำสตาร์ทอัพ แต่นั่นไม่ได้หมายถึงว่าการโต้เถียงกันจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจกันด้วยว่า การโต้เถียงกันนั้นมีขึ้นเพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถส่งมอบบริการและสินค้าที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

ทำตัวเองให้ Lean และ Agile ที่สุด

นิพนธ์ ไทยานุรักษ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท บ๊อกซ์24 จำกัดคืออีกหนึ่งคนที่ขึ้นมายกตัวอย่างธุรกิจของบ๊อกซ์24 ว่าเกิดขึ้นตามแนวคิดของการ Lean และการ Agile อย่างแท้จริง เนื่องจากโครงสร้างของบริษัทนั้น หลัก ๆ มีแค่ตู้ แต่ทั้งหมดที่เหลือเกิดขึ้นบนคลาวด์และแอปพลิเคชัน ขณะที่หัวใจของธุรกิจคือการหาพาร์ทเนอร์ดี ๆ ให้ได้มาก ๆ และขยายจุดให้บริการตู้รับฝากสินค้าให้ทั่วถึงนั่นเอง

20180430 161612
นิพนธ์ ไทยานุรักษ์

ทุกครั้งที่ท้อขอให้จินตนาการภาพของความสำเร็จเอาไว้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคสตาร์ทอัพที่มาพร้อมเทคโนโลยี เป็นสตาร์ทอัพที่ขายได้ยากกว่าสตาร์ทอัพทั่วไป เช่นเดียวกับธุรกิจของ เอ็นอาร์จีเอ็ม กับการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยประหยัดพลังงานจากเครื่องปรับอากาศที่นำน้ำทิ้งกลับมาหล่อเย็นคอยล์ร้อนเพื่อลดอุณหภูมิ โดย พริบตา วงศ์อนวัช กรรมการผู้จัดการบริษัทเผยว่า สิ่งที่สตาร์ทอัพต้องมีคือความเข้มแข็ง และมุ่งมั่น เพราะในปีแรก ยอดขายอาจไม่สูงมากนัก

ต้องขายเป็น และเห็นไปถึงใจของลูกค้า

อีกสิ่งหนึ่งที่สตาร์ทอัพควรมีคือการสังเกตทุกอย่างของลูกค้า เพราะในหลาย ๆ ครั้ง นั่นคือการชี้เป้าอย่างดีว่าแท้จริงแล้ว “ใจ” ของลูกค้านั้นคิดถึงโปรดักซ์ของเราในแง่ไหน และจะตัดสินใจซื้อบนเงื่อนไขอะไร เช่น สินค้าเทคโนโลยีที่หลายคนคิดว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ชาย ทว่า ในการตัดสินใจซื้อนั้น แท้จริงแล้วอาจมีภรรยาที่บ้านเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งหากเตรียมช่องทางในการสื่อสารให้ผู้หญิงเข้าใจได้ง่าย ก็จะได้ใจลูกค้าในส่วนนี้มากขึ้น

P1070525 1
พริบตา วงศ์อนวัช

คนในชาติต้องเคารพ และเกื้อหนุนกัน

หลาย ๆ คนมีไอเดียอยากทำสตาร์ทอัปแต่ลืมเรื่องการจดสิทธิบัตร ทำให้ถูกขโมยไอเดีย และไม่สามารถขยายธุรกิจได้อย่างใจ นำมาสู่ประเด็นสุดท้ายที่ชาวสตาร์ทอัพอยากฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงคนไทยด้วยกันเองว่า คนในชาติเดียวกัน ควรจะมีความเคารพ และเกื้อหนุนกัน รวมถึงไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

เวทีสตาร์ทอัพอาจเป็นเวทีในฝันที่หลายคนอยากออกมาลองแสดงฝีมือ แต่จะเติบโตได้ไกลเท่าไรนั้น บางที ประสบการณ์ของรุ่นพี่ที่ร่วมกันถ่ายทอดบนเวทีแห่งนี้ คงพอชี้แนะแนวทางได้ไม่มากก็น้อย

Avatar photo