Finance

คัดหุ้น MSCI หนุนเงินทะลัก KTC-BEAUTY เกินพันล้าน

msci

ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการพิจารณาทบทวนหุ้นที่ถูกคัดเข้าและคัดออกจากดัชนี “MSCI Index” รอบใหม่ ซึ่งดัชนีดังกล่าวเป็นดัชนีอ้างอิง (benchmark) ที่ถูกจัดขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันที่ลงทุนทั่วโลกนำมาเป็นมาตรฐานในการวัดผลตอบแทนในการลงทุน ซึ่ง MSCI ย่อมาจาก Morgan Stanley Capital International

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นมีการพิจารณาหลายด้าน เช่น สภาพคล่องการซื้อขายหุ้นในรอบปี โดยเฉลี่ยเทียบกับมูลค่าตลาดของหุ้น, ต้องมีฟรีโฟลทขั้นต่ำ 15% และมีมูลค่าตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป เมื่อนำมาคูณด้วยค่าฟรีโฟลทเป็น % แล้ว จะสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด ซึ่งไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ แต่ของประเทศไทย จะต้องมีมูลค่าขั้นต่ำอยู่ที่ 250 ล้านดอลลาร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศหุ้นที่ถูกนำเข้าหรือคัดออกในแต่ละรอบนั้น นักวิเคราะห์มักจะมีการคาดการณ์โดยอ้างอิงจากเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งหุ้นตัวไหนที่มีโอกาสจะถูกนำเข้ามาคำนวณก็จะได้รับอานิสงส์จากความคาดหวังทำให้มีแรงซื้อหุ้นเข้ามา ส่งผลให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหุ้นที่คาดว่าถูกคัดออก ก็จะมีแรงเทขายทำให้ราคาปรับลดลง

การพิจารณาของดัชนี MSCI รอบใหม่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2561 บล.โนมูระ พัฒนสิน ได้คาดการณ์ไว้ว่าหุ้นที่จะเข้า MSCI รอบใหม่ ซึ่งจะประกาศหุ้นเข้าออก ในเย็นวันที่ 14 พฤษภาคมและมีผลวันที่ 31 พฤษภาคม 2561ของ MSCI Global Standard Index ประกอบด้วย หุ้นที่คาดว่าจะเข้า หุ้น KTC (โอกาสสูง) คาดจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนราว 49 ล้านดอลลาร์ หากเทียบอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 31 บาทต่อดอลลาร์ คิดเป็นมูลค่าราว 1.2 พันล้านบาท และ หุ้น BEAUTY (มีโอกาสปานกลาง) ที่จะเข้าคำนวณ คาดเม็ดเงินไหลเข้าราว 60 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.8 พันล้านบาท

ทางตรงกันข้าม หุ้นที่คาดว่าจะถูกคัดออก คือ หุ้น KCE (โอกาสสูง) คาดเม็ดเงินไหลออกราว 30 ล้านดอลลาร์ ดังนั้นจึงแนะนำกลยุทธการลงทุนให้เก็งกำไรหุ้น KTC และหุ้น BEAUTY ขณะที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้น KCE ในระยะสั้น

a333

หากพิจารณาราคาหุ้น KTC ในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากว่า 80% จากต้นปี จากราคา 187 บาท มาอยู่ที่ 335 บาท และเป็นหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงเป็นอันดับ 3 ของหุ้นทั้งตลาด ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ออกบทวิเคราะห์แนะนำให้ขายทำกำไร เนื่องจากมองว่า ราคาหุ้นวิ่งไกลเกินพื้นฐานไปแล้ว แต่มีบางรายที่มองสวนทางและยังแนะนำให้สามารถซื้อลงทุนได้

ด้านบล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินว่า หุ้น KTC ได้เวลาขายทำกำไรแล้ว เพราะราคาหุ้นแพงเกินไป แม้งบกำไรไตรมาส 1 ออกมาดี ซึ่งจากประมาณการที่ปรับใหม่ พบว่ากำไรไม่น่าจะปรับขึ้นได้มากไปกว่านี้ ขณะที่มูลค่าหุ้นปัจจุบันถือว่าแพงเกินไปแล้ว ดังนั้นจึงปรับลดคำแนะนำจาก “ถือ” เป็น “ขาย”

ทั้งนี้ ผู้บริหารของเคทีซีสามารถทำกำไรได้มากขึ้นโดยการลดสัดส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อลง ซึ่งบริษัทตั้งใจจะทำต่อไป ดังนั้น จึงปรับประมาณการกำไรปี 2561 – 2563 ขึ้นเฉลี่ย 20% ต่อปี

แม้ผลการดำเนินงานจะมีกำไรดีกว่าคาดการณ์ โดยรวม 32% แต่สินเชื่อและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อ่อนตัวลงเนื่องจากกฎระเบียบใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผลตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ตอกย้ำความเชื่อที่ว่ากฎระเบียบดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้หลักของ KTC ในปีนี้

ในการปรับประมาณการมีเพียงรายการเดียวเท่านั้นที่ปรับคือปรับลดสมมติฐานสัดส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อลง ทว่าประมาณการสัดส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อของปี 2561 ที่คาดการณ์ที่ 7.7% ถือว่าต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ของ KTC (ต่ำสุดที่ 7.3% ในปี 2555) ดังนั้น จึงไม่คาดว่าจะมีการปรับลดสัดส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อและอัพไซด์หลักที่มีผลต่อการเติบโตของกำไร

จากการประเมินราคาหุ้นที่ 333 บาท คิดเป็น ROE 35% ซึ่งถ้าหากจะรักษาระดับนี้ไว้ได้ต้องมีสัดส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่ออยู่ที่ 6.2% ซึ่งแม้คิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้เนื่องจากอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับสูง แต่อาจจะเกิดขึ้นยากเพราะการกระทำดังกล่าวจะทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากหนี้เสียในธุรกิจบัตรเครดิตสูงถึง 8-10%

ด้าน บล.บัวหลวง มองสวนทาง โดยเชื่อว่า การที่ KTC รายงานกำไรไตรมาส 1 ปี 2561อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท ทะยานขึ้น 65% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 29% จากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 โดยผลประกอบการออกมาดีกว่าที่คาด 37% และสูงกว่าที่ตลาดประเมิน 32% เนื่องจากมีการตั้งสำรองฯ น้อยกว่าประมาณการ

ฝ่ายวิจัยคาดกำไรไตรมาส 2 ปี 2561 จะเติบโตในระดับกลางหากเทียบจากปีก่อน หนุนโดยแนวโน้มสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วและแนวโน้มการตั้งสำรองฯ ลดลง จากการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ในไตรมาส 1 ปี 2561 ที่ดี รวมถึงอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสะสมต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อยู่ในระดับสูง จึงปรับลดการตั้งสำรองฯ สุทธิปี 2561 ของ KTC ลง 14% มาอยู่ที่ 3 พันล้านบาท ดังนั้น จึงปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2561 ขึ้น 14% เป็น 4.4 พันล้านบาท และได้ปรับเพิ่มคำแนะนำสำหรับ KTC ขึ้นจาก “ถือ” เป็น “ซื้อ”

ดังนั้นจะเห็นว่า มีโบรกเกอร์ที่มองสวนทางกัน ซึ่งจริงๆแล้วจะซื้อหรือขายขึ้นอยู่กับต้นทุนของผู้ลงทุนแต่ละคน และความเสี่ยงของการลงทุนที่จะรับได้เองเท่านั้น

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight