COLUMNISTS

เหตุสังหารพระที่ภาคใต้ กับการสยบความโกรธ สู่การท้าทายทางเลือกเพื่อการแก้ปัญหาระยะยาว

Avatar photo
349

หลายฝ่ายออกมาประณามเหตุผู้ก่อการร้ายภาคใต้ บุกยิงป้อมชุดรักษาการหมู่บ้านวัดรัตนานุภาพ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุให้พระครูประโชติ เจ้าอาวาสวัด มรณภาพ เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมากันไปแล้ว เพราะถือเป็นการกระทำที่ไม่เพียงไร้มนุษยธรรม ผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน เท่านั้น แต่ยังตอกย้ำความเกลียดชังและความกลัว​ กดรอยร้าวลึกให้เกิดขึ้นกับสายสัมพันธ์ระหว่างไทยพุทธกับมุสลิม ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงที่ท้าทายความพยายามของชาติไทยและชาวไทยมากว่าร้อยปีที่ จะกระชับสร้างความเป็นปึกแผ่นด้วยความรักและสามัคคีของคนในชาติ

S 11067452
ภาพ: เฟซบุ๊กเพจอีจัน

โดยส่วนตัวเชื่อว่า​ ผู้ก่อเหตุมีเจตนาที่จะทำให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ชาวพุทธ และก็ต้องบอกว่าทำสำเร็จตามประสงค์​ ดังจะเห็นได้จากการระบายอารมณ์ผ่านโลกโซเชียลที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นแฝงด้วยความกลัว

แต่เราต้องไม่ลืมว่า​ ความโกรธคือกิเลสที่ทำให้ขาดสติ ความกลัวเป็นการสร้่างความตีบตันทางปัญญา​ เพราะนอกจากแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังเป็นบ่อเกิดของปัญหาใหม่ที่บานปลายลุกลามตามมาด้วย

คนที่ออกมาให้สติสังคมในเรื่องนี้ได้แบบชัดเจนคือ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักสันติวิธี​ นักวิชาการมุสลิมที่ติดตามปัญหาความรุนแรงในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ท่านให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า

เวลาคิดถึงความรุนแรงภาคใต้ คนส่วนใหญ่จะบอกว่าเริ่มต้นจากการปล้นปืน 4 มกราคม 2547 แต่สำหรับท่านแล้วเห็นว่า คือ วันที่ 22 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระภิกษุถูกสังหารขณะออกบิณฑบาต เพราะการปล้นปืนสะท้อนการต่อต้านรัฐ แต่การสังหารพระภิกษุ มีมิติเรื่องชาวพุทธกับชาวมุสลิมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กลายเป็นการสร้างความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชน

ที่สำคัญคือในประะวัติศาสตร์การต่อสู้ภาคใต้ไม่เคยมีการฆ่าพระมาก่อน เพิ่งมีเมื่อ 15 ปีที่แล้ว จากนั้นก็เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ตอนนี้จึงไม่ทราบว่าเป็นวัฏจักรครั้งใหม่หรือไม่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมถูกทำลาย​ ลดทอนลงเรื่อย ๆ โดยมีการอ้างว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการตอบโต้กรณีนายดอเลาะ สะไร โต๊ะอิหม่ามมัสยิดบ้านปูโปะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 มกราคม แต่ไม่ว่าจะอ้างอย่างไร​ อาจารย์ชัยวัฒน์​ นักวิชาการมุสลิมผู้เน้นหลักปฎิบัติและศรัทธายืนยันว่า “การทำร้าย​ถือเอาชีวิต​นักบวช สตรี​และเด็ก​ พฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดหลักการการต่อสู้ของศาสนาอิสลาม​และผิดต่อหลักอิสลามอย่างร้ายแรง”

ท่านยังวิเคราะห์ถึงกลุ่มผู้ก่อการว่า อาจมาจากการที่มี พวกที่ต้องการกระโดดขึ้นรถไฟขบวนสันติภาพ และมีฝ่ายที่ไม่อยากให้มีการเจรจา โดยคนที่ไม่เคยถูกเชิญขึ้นโต๊ะเจรจาก็อาจต้องการสร้างศักยภาพ เพื่อยกระดับตัวเองสู่วงเจรจาด้วยการใช้ความรุนแรง

นอกจากนี้ก็มีประเด็น ที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำคนใหม่ทำให้อาจต้องการแสดงศักยภาพของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดก็เป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องไปหาสาเหตุและจับกุมคนร้ายมาลงโทษ แต่ที่ท่านเป็นห่วงคือความโกรธแค้น ชิงชัง ที่ปรากฏในโลกออนไลน์ โดยชักชวนให้ดึงสติกลับมาแล้วลองคิดว่า หากพระอาจารย์สว่างท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่มีเจตนาสร้างความแตกแยกระหว่างชาวพุทธกับมุสลิม

ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ แนะนำให้ย้อนดูประวัติของพระอาจารย์สว่างว่าท่านเป็นใคร ทำอะไรมา ก็จะพบว่า  ท่านเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับความนับถือ เป็นเจ้าคณะอำเภอ เป็นคนพื้นถิ่นที่ช่วยเหลือคนจำนวนมาก ไม่เพียงแต่จะพูดภาษามลายูได้ ยังมีบทบาท และมีส่วนร่วมในโครงการระดมผู้คนที่อยากสร้างสันติภาพในพื้นที่มาทำงานร่วมกันด้วย

ดังนั้นท่านจึงถือว่าเป็นสะพานเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม หากท่านยังมีชีวิตอยู่ก็คงไม่อยากเห็นคนไทยตกเป็นเหยื่อของความโกรธ และคงอยากให้แก้ปัญหาบนพื้นฐานการรักษาสายสัมพันธ์เป็นสะพานเชื่อมผู้คนให้อยู่ร่วมกันได้ฉันท์มิตร

ท่านให้ข้อคิดสำหรับผู้ที่ยังโกรธแค้นว่า ผู้ก่อการร้ายไม่สามารถเอาชนะบนกองเลือดของผู้บริสุทธิ์ เพราะมีข้อสรุปจากการศึกษาในหลายสถานที่แล้วว่า ใช้ความรุนแรงทำให้แพ้ไม่ใช่ชนะ และเป็นวิธีการที่หลักศาสนาไม่ยอมรับ

หากเรานำหลักของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการระงับความโกรธ 9 วิธี มาพิจารณาปรับใช้ เรื่องนี้เข้าข้อ 4 คือ ความโกรธทำให้ศัตรูสมใจ ซึ่งเชื่อว่าคนไทยคงไม่อยากเข้าไปอยู่ในกลเกมที่ผู้ก่อการร้ายวางไว้

แต่ไม่ได้หมายถึงให้เราเลิกสนใจ หรือรู้สึกชินชากับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนเฉยเมยกับปัญหา  ตรงกันข้ามสังคมต้องแสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงในภาคใต้เป็นวาระของชาติที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหา เริ่มจากการไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนา ลดความหวาดระแวงอันเป็นบ่อเกิดของการทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างกันลง ถือเป็นการทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองไทยที่ดี

ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาลว่าได้เดินตามยุทธศาสตร์เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ปัญหาที่ปลายด้ามขวานหรือยัง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทุ่มเทงบประมาณมหาศาล กับบุคลากรจำนวนมากลงไปในพื้นที่ แต่ก็ไม่สามารถดับไฟใต้ได้อย่างยั่งยืน จึงต้องหันกลับมาทบทวนว่าต้องเปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางแก้ปัญหาหรือยัง​

ที่ขอสรุปก็คือ​ ไม่แน่ใจว่า​ สรุปไม่ได้ว่าเพียงหลัก “การไม่ฆ่า” ตามแนวทางสันติวิธีจะใข่วิธีที่ดีสุดเพื่อการแก้ปัญหาความรุนแรงนี้​ แต่แน่ใจอย่างยิ่งและสรุปได้ว่า ​ การใช้ความรุนแรง​ การฆ่า เพื่อเอาชนะบนกองเลือดมนุษย์​ไม่ใช่ทางที่แก้ไขปัญหานี้อย่างแน่นอน

ขอสันติสุขจงมีแต่พี่น้องชาวไทยบนแผ่นดินไทยที่เรารักยิ่ง