Business

อึ้ง!! งบเวนคืน ‘สายสีส้ม’ พุ่งทะลุ 1.5 หมื่นล้านบาท

รฟม. ตั้งเป้าเปิดประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ศิริราช-บางขุนนนท์ในปีนี้ เฉพาะงบเวนคืนพุ่งทะลุ 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมปัดไม่ได้เร่งรัดโครงการเพราะใกล้ช่วงเลือกตั้ง

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) เห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และงานเดินรถ ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 235,320 ล้านบาทแล้ว

หลังจากนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพราะถึงแม้โครงการนี้จะใช้รูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) แต่ก็รัฐบาลก็ต้องจัดสรรงบประมาณใน 2 ส่วน คือ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน 15,000 ล้านบาทและค่าชดเชยงานโยธาให้เอกชนวงเงิน 96,000 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย

รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT
ขอบคุณภาพจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

เมื่อ ครม. เห็นชอบโครงการและกรอบงบประมาณแล้ว ก็จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. แต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35ฯ ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อร่างเอกสารการประมูล (TOR) และประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมประมูลต่อไป โดยหวังว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในปีนี้

“เรื่องจะเข้า ครม. เมื่อไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับทาง สคร. ส่วนสาเหตุที่ค่าเวนคืนสูงถึง 15,000 ล้านบาท เพราะเส้นทางสายสีส้มตะวันตกผ่านเขตเมืองเก่า ตั้งแต่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ห้วยขวาง รางน้ำ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน ลอดใต้แม่น้ำไปศิริราช และบางขุนนนท์ ซึ่งทั้งหมดเป็นตัวเมืองชั้นใน ที่ดินจึงมีมูลค่าสูง” นายภคพงศ์กล่าว

ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ2
ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การที่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) และงานเดินรถตลอดเส้นทาง ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดพีพีพีและเตรียมเข้า ครม. ในช่วงนี้ เพราะใกล้ช่วงเลือกตั้งหรือไม่ นายภคพงศ์กล่าวว่า เรื่องนี้ดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการทบทวนรายงาน PPP มาตั้งแต่กลางปี 2560 จนต้องปรับแผนบ่อยครั้ง โดยที่ผ่านมา รฟม. ก็พยายามเร่งรัดมาโดยตลอด แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยผันผวน ทำให้ต้องใช้เวลาปรับปรุงรายงาน PPP นานกว่าจะผ่านความเห็นชอบ

Avatar photo