Politics

อุตสาหกรรม ‘ไม่พบ’ ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในโรงงานเลย

มาตรการที่ 1 จาก 4 มาตรการจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กของรัฐบาล พุ่งเป้าไปที่การลดปริมาณฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอีกแหล่งกำเนิดของปัญหา กระทรวงอุตสาหกรรม จึงปูพรมตรวจสอบโรงงานในพื้นที่เสี่ยง แต่ไม่พบฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน PM 2.5

S 27861026

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการบริหารการป้องกัน และแก้ไขปัญหา (ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน : PM 2.5) ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากภาคอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม

โดยระดมเจ้าหน้าที่จาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจ และเฝ้าระวังโรงงานเสี่ยงที่จะก่อมลพิษทางอากาศในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ โดยตรวจแล้วรวมจำนวน 470 โรงงาน ไม่พบโรงงานที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอน (PM 2.5)

นอกจากนี้ จากการกำกับ ดูแล ตรวจสอบผ่านระบบตรวจวัดมลพิษทางอากาศ จากปล่องระบายอย่างต่อเนื่องอัตโนมัติ (Continuous Emission Monitoring System, CEMS) ตลอด 24 ชั่วโมงของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ จำนวน 59 โรงงาน 142 ปล่อง พบว่า มีปริมาณฝุ่นค่าเฉลี่ยที่ 0.8 – 50 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เกินค่ามาตรฐานฝุ่นจากปล่องระบายของโรงงานทั่วไป คือ 240 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้มาตรฐานขึ้นอยู่กับประเภท และชนิดของเชื้อเพลิงด้วย

นายพสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการกำกับดูแล และเฝ้าระวัง กระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตรวจและเฝ้าระวังโรงงาน เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศทั่วประเทศ 7,700 โรงงาน

และสุ่มตรวจวัดมลพิษทางอากาศในพื้นที่ที่เสี่ยง 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และราชบุรี อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือให้โรงงาน ในพื้นที่เสี่ยง ระมัดระวังในการประกอบกิจการ ไม่ให้เกิดมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการเกิดมลภาวะทางอากาศ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการให้สถานประกอบการอุตสาหกรรม สามารถอยู่ร่วมกับประชาชน และชุมชนในพื้นที่ได้อย่างสมดุล และยั่งยืนต่อไป

Avatar photo