POLITICS-GENERAL

3 กลุ่มเสี่ยงเลี่ยงกิจกรรมนอกอาคาร

สาธารณสุข เข้มข้นมาตรการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชน ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่สีแดง-สีส้ม เน้นกลุ่มเสี่ยงที่ทำงานกลางแจ้ง ผู้มีโรคประจำตัว เด็ก ผู้สูงอายุ 

DSC 5845
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

วันนี้ (23 ม.ค.) ที่ “ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข” (EOC) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัด นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ,นพสุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ,พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ,นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ร่วมกันประกาศมาตรการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชนในสถานการณ์ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 อีกครั้ง

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้วาง 4 มาตรการจัดการกับปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5  ประกอบด้วย

  1. ลดปริมาณฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด
  2. ดฝุ่นละอองในบรรยากาศให้น้อยลง
  3. ป้องกันส่วนบุคคล และการรักษาพยาบาล
  4. คาดการณ์ และแจ้งเตือนให้ประชาชนรู้ล่วงหน้าทั้งความรุนแรง และจุดพื้นที่เสี่ยง

DSC 5775

สำหรับกระทรวงสาธารณสุขได้เฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชนอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง แนะนำวิธีการป้องกันตนเอง จัดทีมแพทย์ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในการปฏิบัติตน และการป้องกันตนเอง รวมทั้งแจกหน้ากาก โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานกลางแจ้ง  เช่น ตำรวจจราจร แม่ค้าริมถนน คนงานก่อสร้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยประจำวันสูงเกิน 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ต้องเน้นให้ป้องกันตนเองให้มากขึ้น โดยสวมหน้ากากที่เหมาะสม และใส่ให้ถูกวิธีแนบกับสนิทกับใบหน้า เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจให้อาบน้ำให้สะอาด

ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยง การทำกิจกรรมนอกอาคาร ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ สังเกตอาการ

หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ให้รีบพบแพทย์ ควรเตรียมยา และอุปกรณ์ช่วยเหลือให้พร้อม ในการติดตามสถานการณ์ประจำวันประชาชนสามารถใช้แอพพลิเคชั่น Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษและ เว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th ในหัวข้อภัยสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

S 9289873

ทั้งนี้ในการเฝ้าระวังโรค ได้มอบให้กรมควบคุมโรค เฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใน 3 โรค ได้แก่ โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน สำหรับมาตรการทางกฎหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

ด้านนพ.สุขุม  กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับกระทรวง (EOC) ประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรุงเทพมหานคร และกรมควบคุมมลพิษอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ สื่อสารแจ้งเตือนประชาชน พร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนผ่านทุกช่องทางสื่อ ทั้งสื่อหลัก และสื่อโซเชียล จัดทำแนวทางการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง

และจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่  ให้ความรู้สร้างความตระหนักในกลุ่มเสี่ยง เช่น โรงเรียน สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ สถานบริการสาธารณสุข รวมทั้งมอบหมายให้กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทีมออกพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนในการปฏิบัติตน แจกหน้ากากอนามัย เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลจัดคลินิกเฉพาะโรค ให้คำปรึกษาสำหรับประชาชนที่สงสัยว่า ตนเองมีอาการที่อาจเกิดจากฝุ่นขนาดเล็ก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422

Avatar photo