Lifestyle

แชร์ประสบการณ์ใช้เทคโนโลยีดาต้า อนาลิติกส์ แก้ปัญหาสังคม

ในขณะที่โลกกำลังพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว แรงงานที่มีทักษะดิจิทัลจึงเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

หนึ่งในทักษะดิจิทัลที่กำลังเป็นที่จับตามอง คือ ดาต้า อนาลิติกส์ หรือการวิเคราะห์เพื่อค้นหาข้อมูลเชิงลึก ซึ่งคือหนึ่งในทักษะดิจิทัลที่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญ โดยองค์กรต่างๆ ต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านดาต้า อนาลิติกส์ จะสามารถช่วยวิเคราะห์เทรนด์ของตลาดและข้อมูลที่มีนัยสำคัญ เพื่อสร้างกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ธุรกิจได้ ยิ่งไปกว่านั้น ดาต้า อนาลิติกส์ ยังถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาสังคม

เยาวชนไทย จากซ้าย นายอมรินทร์ อุดมผล และนายธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ 1

ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยสองคน ได้แก่ นายอัมรินทร์ อุดมผล และนายธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ จากคณะบริหารธุรกิจ (วิทยาลัยนานาชาติ) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านดาต้า อนาลิติกส์ ผ่าน การแข่งขัน “อาเซียน ดาต้า ไซเอนซ์ เอ็กซ์พลอเรอส์” (ASEAN Data Science Explorers หรือ ADSE) ซึ่งจัดโดยอาเซียน ดาต้า ไซเอนซ์ เอ็กซ์พลอเรอส์ ร่วมกับ เอสเอพี โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนในภูมิภาคอาเซียนมาร่วมวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึกโดยใช้ซอฟต์แวร์อนาลิติกส์ คลาวด์ ของเอสเอพี เพื่อเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งมีเยาวชนกว่า 5,000 คน จาก 175 สถาบันอุดมศึกษาในอาเซียนได้เข้าร่วมโครงการนี้

ในปีนี้มีจำนวนโครงการที่ถูกส่งเข้าประกวดเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงสามเท่า และมีทีมนักเรียน 801 คน จากหลากหลายสาขาวิชา เช่น สาขาวิชารัฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรม เข้าร่วมพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาทางสังคม

เยาวชนไทย จากซ้าย นายอมรินทร์ อุดมผล และนายธีระพงษ์ ศรีสุพรรณ 2

ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยได้วิเคราะห์ข้อมูลผ่านซอฟต์แวร์ของเอสเอพี และค้บพบสถิติที่น่าสนใจว่าอัตราการฆ่าตัวตายของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาช่วงอายุ 13-17 ปี ในอาเซียน มีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความขาดแคลนของบุคลากรทางสุขภาพจิต (ต่ำกว่า 1:100,000) และงบประมาณคืออุปสรรคที่ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข จึงเลือกนำเสนอประเด็นด้านสังคมนี้ในเวทีการแข่งขันพร้อมนำเสนอแนวทางการแก้ไข

นายอัมรินทร์กล่าวถึงความสำคัญของปัญหาทางสังคมที่ค้นพบว่า “สิ่งสำคัญคือการสร้างความตระหนักของคนในอาเซียนต่อสุขภาพจิตของนักเรียนมัธยมฯ ซึ่งหลายคนอาจมองข้าม และไม่ได้มีการตั้งนโยบายที่ชัดเจน แต่สุดท้ายแล้ว เราต้องไม่ลืมว่าเยาวชนก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า”

ในขณะที่นักศึกษาทีมอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาทางสังคม จากการใช้เทคโนโลยี ดาต้า อนาลิติกส์ ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาชุมชนแออัดให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน การเสริมสร้างทักษะและความรู้ด้านผู้ประกอบการ รวมถึงการแก้ปัญหาเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าทางทะเลในภูมิภาค

แม้ในปีนี้โครงการของเยาวชนไทยจะไม่ได้คว้ารางวัลชนะเลิศ แต่สิ่งที่พวกเขาได้มีคุณค่ากว่านั้นมาก

“สิ่งที่ผมได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้คือการก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวผมเองและหันมาเรียนรู้ทักษะดิจิตัลใหม่ๆ ผมมองว่าเยาวชนไทยทุกคนควรรู้จักแสดงความคิดเห็น ควรพูดเสียงของตัวเองออกมา โดยใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานรองรับ เราจำเป็นต้องรู้จักการค้นหาข้อมูล การคิดและการวางแผนอย่างเป็นระบบ ความรู้เกี่ยวกับดาต้า อนาลิติกส์ มีความสำคัญกับอนาคตของเราอย่างมาก นี่คือทักษะที่เราจะมองข้ามไม่ได้เลย” นายธีระพงษ์กล่าว

image005

 

Avatar photo