The Bangkok Insight

จากความสำเร็จสินเชื่อรถยนต์สู่ ‘ซีอีโอ ธนชาต’

เพิ่งแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2562 สำหรับซีอีโอคนใหม่ ธนาคารธนชาต “นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ3
นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ

เป็นผู้บริหารหนุ่มไฟแรงในวัย 55 ปี ที่ก้าวสู่ตำแหน่งบริหารสูงสุดโดยไม่ได้มาจากตระกูลดัง และไม่ใช่ทายาทธุรกิจพันล้าน แต่เป็นคนทำงานที่เริ่มต้นจากการเป็นผู้บริหารระดับกลาง ในตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีหลักประกันและธุรกิจเงินฝาก ธนาคารธนชาต ในปี 2553-2557

จากนั้นในปี 2557-2559 ขยับมาเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต และก้าวขึ้นมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารธนชาต ในปี 2559-2561 และล่าสุดในปี 2562 เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ ซีอีโอคนใหม่ของธนาคารธนชาต

“จากพนักงานธรรมดาคนหนึ่ง ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งซีอีโอ นับเป็นความภาคภูมิใจ” เป็นความรู้สึกที่ผู้บริหารสูงสุดของธนาคารธนชาต กล่าวบนเวทีแถลงข่าว ก่อนจะเผยวิชั่นการบริหารในฐานะซีอีโอคนใหม่ว่า สิ่งที่ธนาคารธนชาตจะให้ความสำคัญนับจากนี้ไป ยังคงเป็นนโยบายที่เน้นการให้บริการบนพื้นฐาน ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ให้ลูกค้าได้รับความสะดวกมากที่สุด

สิ่งที่ต้องตามให้ทันไม่เพียงเทคโนโลยี แต่ต้องตามพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนตามเทคโนโลยีให้เท่าทัน

ด้วยแนวคิดที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ทำให้การปรับเปลี่ยนบริการต่างๆ ในธนาคาร ล้วนเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ตรงตามความต้องการและพฤติกรรมลูกค้ายุคใหม่ โดยธนชาตได้กำหนดกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจไว้ชัดเจน 4 ประการ ประกอบด้วย

1.การปรับผังผู้บริหารและตั้งหน่วยงานใหม่ ให้สอดรับกับแผนธุรกิจและ Customer Journey เพื่อให้แต่ละหน่วยงาน Focus กับธุรกิจมากยิ่งขึ้น เช่น ตั้งหน่วยงาน Enterprise Digital Banking ขึ้นมาเพื่อศึกษาพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป และวางกลยุทธ์ด้านดิจิทัลให้เหมาะสม โดยจะมีการนำโมเดลการบริหารธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จ มาเป็นต้นแบบบริหารธุรกิจ ด้านอื่นๆ อีกทั้งแต่ละธุรกิจ จะมีทีมบริหารที่ดูแลงานขายและงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

2.การขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล (Data Driven Organization) จะเป็นการนำข้อมูลมาขับเคลื่อนธุรกิจทุกทิศทาง ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เพราะด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การหลั่งไหลของข้อมูลมีอย่างมหาศาล ข้อมูลหล่านันสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในการวางกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงความต้องการมากทีสุด ให้ข้อมูล หรือ Data เป็นตัวขับเคลื่อนองค์กร

3.การลดกระบวนการทำงานต่างๆ (Agility) เปลี่ยนไปสู่ระบบอัตโนมัติ เพื่อให้บริการได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยที่ผ่านมาธนชาตได้พัฒนาระบบ Automotive Lending Digital Experience (ALDX) ให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จ ลูกค้าให้การตอบรับเป็นอย่างดี

4.การเพิ่มความรู้ทักษะพนักงาน ให้มีความรู้ลึกและรอบด้าน ในการให้คำปรึกษาด้านการเงินแก่ลูกค้า (Advisor) อย่างตรงจุดและสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามต้องสามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างครบถ้วน

จากกลยุทธ์และแผนธุรกิจดังกล่าว ที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ เป็นธนาคารในความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์แบบบ จำเป็นต้องมีพันธกิจเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน โดยซีอีโอคนใหม่เผยว่า พันธกิจของธนาคารธนชาตที่จะมุ่งไปในปี 2562 ได้วางเป้าหมายหลักไว้ 4 เรื่องด้วยกัน ประกอบด้วย

  • การรักษาความเป็นที่ 1 ในตลาดสินเชื่อรถยนต์ เช่นเดียวกับหลายปีที่ผ่านมา และต้องขยายพอร์ตมากขึ้น
  • พัฒนาสินเชื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ไม่เพียงจำนวนเงินเท่านั้น แต่ต้งเป็นสินเชื่อคุณภาพ หนี้เสียต่ำ
  • เพิ่มบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน (CASA) ซั่งปัจจุบันมีอยู่ 5 ล้านบัญชี ให้เติบโตไม่น้อยกว่า 10%
  • ขยายสัดส่วนธุรกิจลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น เป้าหมายที่ 80% จากปัจจุบันมีสัดส่วน 70% พอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร

“จากกลยุทธ์และทิศทางบริหารงานดังกล่าว ประกอบกับทีมงานที่มีคุณภาพ ผมเชื่อมั่นว่าจะทำให้ธนชาตไปถึงเป้าหมายของปี 2562 ได้ และผลประกอบการจะเติบโตไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา” นายประพันธ์ ย้ำก่อนจะเผยว่า เป้าหมายทั้งหมดนี้ ต้องมาจากความร่วมมือและการบริหารแบบทีมเวิร์คที่แข็งแกร่ง

ทีมผู้บริหารธนชาต
ทีมผู้บริหารธนชาต

โดยในงานเปิดตัวซีอีโอคนใหม่ของธนาคารธนชาต ยังได้มีการเปิดตัวทีมบริหารมากประสบการณ์ เป็นหัวหน้าทีมที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเข้ามาบริหารธุรกิจหลัก เป็นกลไกขับเคลื่อนให้ธนชาตรักษาความเป็นธนาคารชั้นนำของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการวางตัวผู้บริหารสายงานธุรกิจต่างๆ  ไว้ชัดเจน ประกอบด้วย

นายวิลเลียม ซาอิด รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีประสบการณ์บริหารงานธุรกิจด้านโครงสร้างต้นทุน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงของสโกเทียแบงก์มาแล้ว ในหลายประเทศ อาทิ แคนาดา สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน รับผิดชอบบริหารด้านลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม

สำหรับธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ บริหารโดย นายป้อมเพชร รสานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งมีประสบการณ์คลุกคลีในวงการรถยนต์ มีความเข้าใจธุรกิจนี้เป็นอย่างดี รวมถึงร่วมงานกับธนชาตมานานกว่า 30 ปี เป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ให้ธนาคารเป็นที่หนึ่งของสินเชื่อรถยนต์

อีกหน่วยงานที่สำคัญคือ ธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการ ยังคงบริหารงานอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากดูจากผลการดำเนินงานของธนาคารธนชาต จะเห็นว่ามีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยสัดส่วนเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาท และล่าสุด ผลกำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ 14,703 ล้านบาท เป็นการเติบโตต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ขณะที่ตัวเลขหนี้เสีย (NPL Ratio) คงที่อยู่ที่ระดับ 2.3% ถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรม

ซีอีโอ ธนชาต ย้ำว่าจะรักษาฐานการเติบโตนี้ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่การปรับโครงสร้างพอร์ตรายได้ จากเดิมที่สัดส่วนธุรกิจจากรายย่อย 70% จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 80% และรักษาการเติบโตของกำไรใกล้เคียงตัวเลข 2 หลักให้ได้ แม้ฐานพอร์ตจะใหญ่ขึ้นก็ตาม

สำหรับแผนปรับตัวรับยุคดิจิทัล ธนาคารธนชาตจะเดินหน้าพัฒนาการให้บริการได้เท่าทันเทคโนโลยี โดยจะให้พนักงานเป็นสื่อกลางประสานเรื่องการใช้เทคโนโลยีให้กับผู้บริโภค และยังคงรักษาการเติบโตและจำนวนสาขาธนาคารฯ ที่มีอยู 500 กว่าแห่งให้พร้อมบริการลูกค้าอย่างทั่วถึง

ส่วนประเด็นควบรวมกับธนาคารทหารไทย ที่เป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2561 ซีอีโอธนชาต เผยว่า เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น ซึ่งฝ่ายบริหารไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ภารกิจหลักของทีมบริหาร คือ บริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ ด้วยกลยุทธ์และวิชั่นดังกล่าว ส่วนการควบรวม นั้นเป็นการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก

“วันนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้าชัดเจนเกี่ยวกับการควบรวม ยังคงสถานะเหมือนที่เราได้ชี้แจงกับพนักงานไปเมื่อปลายปี 2561” นายประพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย ก่อนที่จะสรุปว่าไม่ว่าแผนควบรวมจะออกมาอย่างไร ธนาคารธนชาตก็จะยังคงรักษาฐานะ การเป็นธนาคารที่พร้อมให้บริการลูกค้า ได้อย่างทั่วถึงและก้าวทันเทคโนโลยี สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

Avatar photo