Wellness

ย้ำเตือนอีก ‘ไขมันทรานส์’ พิษภัยสุขภาพ

อาจลืมกันไปแล้วถึงพิษภัยของ “ไขมันทรานส์ “ กระทรวงสาธารณสุข จึงออกมาย้ำประชาชนถึงภัย จากการบริโภคน้ำมันและอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ และเตือนผู้ประกอบการ ถึงตัวบทกฎหมายห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันและอาหารที่มีส่วนประกอบไขมันทรานส์ โทษแรงทั้งจำ และปรับ

“ไขมันทรานส์” (Trans fat) เป็นไขมัน ที่เกิดจากการแปรรูป ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งย่อยสลายได้ยากกว่า ไขมันชนิดอื่น มักนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร และขนม อาทิ เบเกอร์รี่ ที่ใช้เนยขาว เนยเทียม ครีมเทียม หรือ มาการีน เป็นส่วนผสม

ข้อมูลจากกรมอนามัย อธิบายว่า เมื่อไขมันทรานส์เข้าสู่ร่างกาย จะเพิ่มระดับไขมันเลว (LDL) และลดไขมันดี (HDL) ในเส้นเลือด  ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพิ่มไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) เพิ่มระดับไขมันตัวร้าย แอลดีแอล-คอเลสเตอรอล(LDL- cholesterol) ลดระดับไขมันตัวดี เอชดีแอล-คอเลสเตอรอล (HDL- cholesterol) ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต

นอกจากนี้การที่ไขมันทรานส์ย่อยสลายได้ยาก ทำให้ตับของคนเรา  ต้องย่อยสลายด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากการย่อยสลายไขมันตัวอื่น จึงอาจก่อให้เกิดภาวะผิดปกติกับร่างกาย ทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด นอกจากเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ยังส่งผลให้เกิดความเสี่ยง ต่อจอประสาทตาเสื่อม นิ่วในถุงน้ำดี และยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์

ไขมันทราน
ดร.สายพิณ โชติวิเชียร

ดร.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย  กล่าวว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำ ว่า

  • ไม่ควรรับประทานกรดไขมันทรานส์มากกว่า 1% ประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือไม่ควรบริโภคเป็นประจำ
  • ควรรับประทานกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fat)  น้อยกว่า 10 % หรือน้อยกว่า 18-22 กรัมต่อวัน
  • หากเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ควรรับประทานไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 7 % หรือน้อยกว่า 12-15.5 กรัมต่อวัน

ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ต่างกันอย่างไร ดร.สายพิณ ชี้ว่า ไขมันอิ่มตัวก็เป็นอีกตัวหนึ่ง ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะไขมันอิ่มตัว จะเพิ่มคอเลสเตอรอล โดยรวมในร่างกาย แต่ต่างจากไขมันทรานส์  ตรงที่ไขมันอิ่มตัวจะไม่ลดไขมันตัวที่ดี (HDL- cholesterol) จึงไม่ร้ายเท่าไขมันทรานส์

french fries 1351067 640

อย่างไรก็ตามการบริโภคไขมันชนิดต่างๆมากเกินไป ย่อมไม่ส่งผลดีต่อร่างกาย  จึงให้หลีกเลี่ยงอาหาร ดังนี้

  • อาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์
  • อาหารที่อุดมด้วยไขมันอื่นๆ ได้แก่ อาหารทอด ฟาสฟูดส์ ขนมอบ และ เบเกอรี่
  • อาหารที่มีไขมันจากสัตว์ เช่น เนื้อติดมัน เนื้อมันแทรก มันหมู หนังไก่ สะโพกไก่ เนย ชีส
  • ไขมันที่มาจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ครีมเทียม เป็นต้น

สำหรับอาหารที่ให้เลือกบริโภค เพื่อสุขภาพที่ดี และลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มี 8 ประเภท ดังนี้

1.เป็นอาหารที่มีไขมันอย่างเหมาะสม

2.ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว

3.ใช้น้ำมันที่ปรุงอาหารให้หลากหลาย ในปริมาณที่พอเหมาะไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน

4. หลีกเลี่ยงการกินน้ำมันโดยตรง

5.เลี่ยงกินอาหารทอด

6. ลดขนมอบ และ เบเกอรี่

7. อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อ

8. เพิ่มการกินผัก และผลไม้รสหวานน้อย หลากหลายชนิดเป็นประจำ

S 18825421 1
พญ. พรรณพิมล วิปุลากร

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ย้ำถึงตัวบทกฎหมายว่า จากผลเสียของการบริโภคน้ำมัน และอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งสถาบันการศึกษา และภาคอุตสาหกรรมอาหาร ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 กำหนดให้น้ำมัน ที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2562

ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก เรื่องมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และสื่อสารถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ

โดย อย.ได้จัดทำแผนตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า และสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค หากพบการกระทำฝ่าฝืน จะมีโทษตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท

“การออกประกาศข้อบังคับทางกฏหมายฯ นับเป็นมาตรการที่ดี ช่วยให้ผู้บริโภคลดโอกาส การบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ และลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ” พญ.พรรณพิมล ย้ำ

 

Avatar photo