The Bangkok Insight

ค้านผุด‘ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ’ชงรัฐบาลใหม่ลดเหลื่อมล้ำสุขภาพ

“ภาคประชาสังคม” เสนอพรรคการเมืองลดเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพ-เลิกเก็บเงินที่่จุดบริการ ชงแก้กฎหมายบัตรทอง เปิดช่องประชาชนมีส่วนร่วมงานส่งเสริมป้องกันโรค-ปลดล็อคเลข 13 หลัก ช่วยเหลือผู้มีปัญหาสถานะได้รับสิทธิ ค้านคสช.ตั้งซูเปอร์บอร์ด

บุญยืน
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวในเวทีเสวนามองไปข้างหน้า “พรรคการเมืองกับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน” ในงานรำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ จัดขึ้นโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัดว่า อยากจะชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพที่ชัดเจนว่า ข้าราชการก็เป็นผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมก็เป็นคน ประชาชนที่ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ก็เป็นคนเหมือนกัน เหตุใดเมื่อล้มป่วยเป็นโรคเดียวกันแต่กลับไม่ได้รับการรักษาที่เหมือนกัน เหตุใดต้องมีการแบ่งแยกว่ายาชนิดนี้ สำหรับข้าราชการ ยาชนิดนี้สำหรับประชาชน

“ทำไมต้องมีการแบ่งชนชั้นกัน เพราะทุกคนเป็นคนเหมือนกัน และทุกคนในประเทศนี้ก็เสียภาษี นักการเมืองหรือรัฐบาลชุดใดก็ตาม ก็ใช้ภาษีจากประชาชนบริหารประเทศ ไม่เคยมีใครหรือรัฐบาลใดที่ใช้ทรัพย์สมบัติหรือมรดกของตัวเองมาบริหารประเทศ ดังนั้น การบริหารภาษีของประชาชน ก็ควรบริหารให้เกิดความเท่าเทียมกันทุกคน ไม่ใช่มาตีตราว่านี่คือข้าราชการ นี่คือคนทั่วไปที่ไม่ใช่ข้าราชการ สิ่งนี้คือเรื่องความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นางสาวบุญยืน กล่าว

พรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่จะมาบริหารประเทศในอนาคต ต้องจัดทำนโยบายเพื่อไม่ให้เกิดการเก็บค่ารักษาพยาบาล ณ จุดบริการ หรือเก็บเงินหน้างานที่โรงพยาบาล ส่วนตัวมีประสบการณ์ตรงคือเข้าไปรับรักษาพยาบาลด้วยระบบสงเคราะห์ ก็ต้องเข้าไปทนรับฟังคำตำหนิว่าเหตุใดจึงไม่มีเงินรักษาพยาบาล หรือตอนที่ไปรอรับยาให้มารดา ค่ายา 150 บาท แต่ตัวเองมีเงินแค่ 100 บาท ทางโรงพยาบาลจึงแก้ปัญหาด้วยการเทยาออกมาส่วนหนึ่ง สิ่งนี้คือสถานการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้วในประเทศไทย

นอกจากนี้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้เขียนล็อกเอาไว้ว่าผู้ที่มีสิทธิต้องมีเลขบัตรประชาชน 13 หลักเท่านั้น นั่นทำให้คนไทยที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคลไม่สามารถเข้าถึงสิทธิอันพึงมีได้ ตรงนี้อยากเสนอให้พรรคการเมืองหรือผู้บริหารประเทศในอนาคตแก้ไขปัญหา เพื่อให้สิทธิบัตรทองเป็นของคนไทยทุกคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินนี้

“วาทกรรมสร้างนำซ่อมเป็นอีกเรื่องที่ต้องแก้ไข ในกฎหมายกองทุนหลักประกันมีเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค แต่กลับกำหนดเอาไว้ว่าต้องให้หน่วยบริการเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น ทั้งที่เรื่องสุขภาพดีเป็นเรื่องของประชาชน ต้องเปิดช่องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมป้องกันโรคด้วย เพราะถ้าเรื่องสุขภาพต้องฝากไว้ที่โรงพยาบาลอย่างเดียว เราก็จะเจ็บป่วยกันอยู่อย่างนี้ ดังนั้นจึงอยากฝากเรื่องแก้กฎหมายใน 2 ประเด็นนี้” น.ส.บุญยืน กล่าว

ในภาพกว้างแล้ว ต้องฝากเรื่องทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งไม่ต้องทำลายสุขภาพ เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจะจัดงบประมาณเพื่อดูแลสุขภาพมากแค่ไหน แต่ยังมีนโยบายที่ทำลายสุขภาพ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองแร่ ฯลฯ คนก็จะป่วยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการป่วยไข้ที่ไม่ได้เกิดจากประชาชนเอง แต่ประชาชนกลับถูกทำให้ป่วย ดังนั้นการพัฒนาต้องไม่ทำลายล้างประชาชน

สุขภาพ1
เวทีเสวนา “พรรคการเมืองกับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน”

“การพัฒนาคือความเจริญ แต่ถ้าเจริญแล้วประชาชนอยู่ไม่ได้ ประชาชนก็ไม่ต้องการการพัฒนา” น.ส.บุญยืนกล่าว และสนับสนุนให้พรรคการเมืองมีนโยบายสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแท้จริง

น.ส.บุญยืน กล่าวว่า พรรคการเมืองไม่ควรมองประชาชนเป็นภาระ เพราะประชาชนหากินจากอาชีพและหยาดเหงื่อของตัวเองแทบทั้งสิ้น ประชาชนไม่เคยเป็นภาระใคร มีแต่คนอื่นที่เป็นภาระประชาชน และอีกประเด็นที่อยากจะฝากไว้คือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามที่จะออกกฎหมายซูเปอร์บอร์ด หรือในภาษาอาชีวะคือ “พ่อทุกสถาบัน” หมายความว่าซูเปอร์บอร์ดนี้จะสามารถแทรกแซงการทำงานของทุกบอร์ดได้ เช่น บอร์ด สปสช.คิดอะไรมา แล้วซูเปอร์บอร์ดบอกว่าไม่พอใจก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นเราจึงขอคัดค้านการตั้งซูเปอร์บอร์ด ฝากรัฐบาลในอนาคตด้วย

Avatar photo