Lifestyle

โปรดหลีกเลี่ยง!! 4 พฤติกรรมทำลายสมอง

บางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังมีพฤติกรรมทำลายสมอง สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์  เลยออกมาแนะนำ “5 พฤติกรรมดี และ 4 พฤติกรรมร้าย” ที่ไปทำลายสมองของคนเรา เพื่อกระตุ้นให้รู้ตัวแต่เนิ่นๆ หันมาใส่ใจสุขภาพ ก่อนที่สมองจะถูกทำลายจนเสียสภาพ และเรียกคืนไม่ได้

นพ.สมศักดิ์ กรมแพทย์ 1 1
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สมองถือเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุมกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหว การหายใจ โดยควบคุม และสั่งการร่างกาย ให้ทำงานตามความคิด เพื่อให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข

“สมองมีการทำงานตลอดเวลา ดังนั้นการใส่ใจพฤติกรรม ที่ควรปฏิบัติ เพื่อให้สมองทำงานได้ดี จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญเพื่อสุขภาพที่ดีของสมอง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมร้ายๆ ที่อาจทำลายสมอง” 

1534739656438 1
พญ.ไพรัตน์ แสงดิษฐ

พญ.ไพรัตน์  แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา ชี้ว่า มี 4 พฤติกรรมร้าย ทำลายสมองที่ต้องหลีกเลี่ยง ประกอบด้วย

1.ความเครียด เป็นทั้งผลร้ายต่อสภาพจิตใจ  และส่งผลกระทบต่อสมอง ทำให้เสียสมาธิ หรือบางคนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

2.สิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะ ทำให้ได้รับออกซิเจนลดลง ในทางกลับกันการอยู่ในอากาศที่ดี จะทำให้สมองได้รับออกซิเจนเพียงพอ

3.สูบบุหรี่  ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ นอกจากทำให้เป็นมะเร็งปอดแล้ว ยังทำให้ร่างกาย และสมองได้รับออกซิเจนลดลง อีกทั้งเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง

4.โรคประจำตัว บางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองหลายโรค อาทิ โรคหลอดเลือด

ดังนั้น หากพบว่าตนเองมีโรคประจำตัว ควรรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสีย เพราะการรักษา เมื่อเกิดการทำลายของสมองแล้ว จะไม่สามารถทำให้สมองกลับมาทำงานได้สมบรูณ์ตามปกติ  และจิตใจจะทำงานผิดปกติไปด้วย ซึ่งสมองมีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ การเรียนรู้ คนเราจึงควรหันมาใส่ใจพฤติกรรมพัฒนาสมอง  ขอแนะนำ 5 พฤติกรรมดี ดังนี้

  • กินดี  คือ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่  ลดอาหารบางจำพวก โดยเฉพาะอาหารทีมีน้ำตาลสูง ซึ่งเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน  และโรคหลอดเลือดสมอง
  • ออกกำลังกายดี การออกกำลังกาย จะทำให้ร่างกายโดยรวม และหลอดเลือดแข็งแรง ไม่มีภาวะน้ำหนักเกิน
  • นอนหลับพักผ่อนดี การพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้ร่างกายมีเวลาพัก เพื่อซ่อมแซมตัวเอง ดังนั้นควรมีเวลาพักผ่อนนอนหลับอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
  • คิดดี การฝึกคิด ฝึกลงมือทำ จะช่วยให้สมองเกิดการเรียนรู้ และพัฒนากระบวนการคิดให้รวดเร็วขึ้น
  • สนทนาดี การฝึกสนทนาพูดคุยกับคนอื่นๆ เป็นประจำ สม่ำเสมอ จะช่วยให้สมองได้มีการฝึกฝนแก้ปัญหา ส่วนคนที่เก็บตัวไม่พบปะผู้คน พบว่าสมองมีกระบวนการทำงานในการแก้ปัญหาที่ช้าลง

 

Avatar photo