Business

บอร์ดคัดเลือกฯรับ 3 ข้อเสนอพิเศษด้าน ‘CP’ กังวลไฮสปีดเสี่ยงสูง

คณะกรรมการคัดเลือกไฮสปีดรับข้อเสนอพิเศษ 3 ข้อ จากทั้งหมด 11 ข้อ พร้อมเดินหน้าเจรจาเงื่อนไขสัญญาต่อสัปดาห์หน้า ด้าน ‘กลุ่ม CP’ กังวลเรื่องความเสี่ยงสูง กลัวแบกโครงการไม่ไหวถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และการลงทุนที่เกี่ยวข้อง วงเงิน 224,544.36 ล้านบาท วันนี้ (18 ม.ค.) ว่า

เวลา 9.00 น. วันนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เชิญกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CP) เข้าชี้แจงรายละเอียดข้อเสนอซองที่ 4  ซึ่งเป็นข้อเสนอพิเศษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงการและเงื่อนไขสัญญาที่ยื่นเพิ่มเติมในวันที่ 9 มกราคม 2562 จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เชิญกลุ่ม CP ออกจากห้องประชุมในเวลาประมาณ 11.20 น. เพื่อสรุปว่าจะรับหรือไม่รับข้อเสนอซองที่ 4 ข้อใดบ้าง

ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เชิญกลุ่ม CP เข้าห้องประชุมอีกครั้งเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.  เพื่อชี้แจงเรื่องการผลการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 4 และกรอบการเจรจาสัญญาด้วยวาจา ก่อนจบการประชุมในเวลาประมาณ 13.00 น.

ไฮสปีด
การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ กับกลุ่ม CP ในวันนี้ (18 ม.ค.)

นายวรวุฒิ กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แจ้งกลุ่ม CP ด้วยวาจาว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณารับข้อเสนอซองที่ 4 ของกลุ่ม CP จำนวน 3 ข้อ จากทั้งหมด 11 ข้อ เนื่องจากข้อเสนอทั้ง 3 ข้อเกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ

สำหรับ 1 ในข้อเสนอที่คณะกรมการคัดเลือกฯ รับไว้แบบมีเงื่อนไข คือ การตั้งศูนย์ความเป็นเลิศระบบราง เนื่องจากเอกชนคงดำเนินการเรื่องนี้ฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากการรถไฟฯ ด้วย โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 4 พร้อมเหตุผลไปให้กลุ่ม CP อย่างเป็นทางการภายในวันนี้

ส่วนข้อเสนอซองที่ 4 อีก 8 ข้อ ที่ไม่ได้รับไว้ เนื่องจากไม่เข้าหลักการการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการและอยู่นอกเหนืออำนาจพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ แต่ถ้าหากหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณา ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่ามีประโยชน์และจะทำให้โครงการอยู่รอด ก็สามารถดำเนินเจรจาและรับข้อเสนของเอกชนได้

ด้านเอกสารเพิ่มเติม 200 หน้า ที่กลุ่ม CP ยื่นมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 นั้น เป็นเงื่อนไขสัญญา โดยวันนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้แบ่งกรอบการเจรจาเงื่อนไขสัญญาออกเป็น 4 หมวดและจะส่งหนังสือแจ้งให้กลุ่ม CP รับทราบอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มกราคม 2562 จากนั้นกลุ่ม CP จะต้องไปหารือกับพันธมิตร แล้วนัดวันเจรจาเงื่อนไขสัญญากับคณะกรรมการคัดเลือกฯ อีกครั้งภายใน 7 วัน ซึ่งคาดว่าจะนัดเจรจาได้เร็วที่สุดในช่วงปลายสัปดาห์หน้า

เบื้องต้นจึงประเมินว่า เป้าหมายการลงนามสัญญากับกลุ่ม CP ในวันที่ 31 มกราคม 2562 คงต้องเลื่อนออกไปก่อน เพราะยังไม่ทราบว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปเมื่อใด แต่ถ้าหากเลื่อนการลงนามสัญญาออกไป ก็ต้องแจ้งให้รัฐบาลรับทราบด้วย

วรวุฒิ มาลา
วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย

นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า กลุ่ม CP ค่อนข้างกังวลกับการดำเนินโครงการ เพราะโครงการมีความเป็นไปได้ แต่มีความเสี่ยงสูง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เอกชนอาจไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงได้ เช่น กรณีปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าหมาย, วิกฤติเหล็กขาดตลาด, การกู้ยืมเงินที่มีดอกเบี้ยสูงตามความเสี่ยงของโครงการ เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้อาจส่งผลให้โครงการล่าช้าหรือความเสียหาย ดังนั้นกลุ่ม CP จึงพยายามยื่นข้อเสนอเพื่อลดความเสี่ยงของโครงการลง

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีการการันตีรายได้ให้เอกชนตามที่เป็นข่าว และถึงกลุ่ม CP เสนอมา ก็ไม่สามารถรับไว้ได้ เพราะเกินกว่าเงื่อนไขการประมูล (TOR) และกรอบการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ คณะกรรมการคัดเลือกฯ และเอกชนจะต้องเจรจาและปรับตัวเข้าหากันเพื่อให้โครงการอยู่รอด หรือ EEC และ ครม. สามารถพิจาณารับข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการเพิ่มเติมได้ แต่สุดท้ายเอกชนก็ต้องรับความเสี่ยงทั้งหมดไปอยู่ดี ไม่ว่าการเจรจาจะมีข้อสรุปอย่างไร

“เขากังวลว่า ถ้าเป็นแบบนี้มันจะมีความเสี่ยงเยอะ ถ้าความเสี่ยงเยอะก็ต้องบริหารความเสี่ยง แล้วถ้ามันสะดุดขึ้นมา ถึงกับโครงการไปต่อไม่ได้ เกิดความเสียหาย เขาก็อยากให้การทำธุรกิจมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เขาก็มองในมุมมองธุรกิจ” นายวรวุฒิกล่าว

ระบบราง 190103 0031

สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กลุ่ม CP ยื่นข้อเสนอขอก่อสร้างเส้นทางส่วนต่อขยายนั้น นายวรวุฒิกล่าวว่า ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเรื่องอนาคต โดยเงื่อนไขสัญญาสามารถเปิดช่องให้เอกชนเจรจาได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะสัญญาสัมปทานยาวนานถึง 50 ปี จึงไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

โดยสัญญาสามารถเปิดให้เอกชนเจรจาขยายเส้นทาง เช่น ก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อจากรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงแก่งคอย จ.สระบุรี มายังรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน บริเวณแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 90 กิโลเมตร การเจรจาเพิ่มหรือขยับสถานี เป็นต้น แต่ทั้งหมดก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย

Avatar photo