COLUMNISTS

ทำไมต้องกลัว ‘แจ็ค หม่า’

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
151

สัปดาห์เศษที่ผ่านมาประเด็น ใครได้ประโยชน์มากกว่ากัน ระหว่างไทยกับจีน หลัง แจ็ค หม่า ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทอาลีบาบา ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลกสัญชาติจีน ทำเอ็มโอยูกับรัฐบาลไทย 4 ฉบับ ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันจนท่วมจอ

แจ็ค หม่า
แจ็ค หม่า

นักการเมืองบอกว่า โครงการการลงทุน สมาร์ท ดิจิทัล ฮับ ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่าลงทุนเบื้องต้น 1.1 หมื่นล้านบาท (เพื่อทำศูนย์ข้อมูลโลจิสติกส์รองรับการขนส่งสินค้าระหว่างจีนไทยเชื่อมต่อไปถึงกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านซีแอลเอ็มวี) น้อยกว่าที่ อาลีบาบา ลงทุนในมาเลเชียเมื่อปีที่แล้วถึง 5 เท่า ทั้งที่ก่อนหน้านักการเมืองคนเดียวกันนี้เคยออกมาวิพากษ์ว่าเป็นการเสียโอกาสของไทยอย่างมากที่ หม่า ตัดสินใจลงทุนในมาเลเซียเมื่อปีที่แล้ว

ส่วนคนระดับครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัย ออกมาฟันธงฉับๆ เหมือนกันว่า ดีลนี้จะทำให้ไทยตกเป็น “อาณานิคมทางเศรษฐกิจ” ของจีน ซึ่งเป็นมุมมองที่สุดโต่งเอามากๆ เพราะถ้าสรุปรวบยอดด้วยตรรกะนี้ ไทยคงเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ ของญี่ปุ่นที่ครองสัดส่วนการลงทุนโดยตรงในไทยมากกว่าครึ่ง ไปตั้งนานแล้ว

ทั้งยังตีความไปไกลต่อด้วยว่า สาเหตุที่ไทยต้องใกล้ชิดกับจีนเพราะรัฐบาลไทยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (ตะวันตกไม่ยอมรับอะไรทำนองนั้น) ทั้งที่ความจริงยุคนี้ประเทศไหนๆ ก็อยากตีชี้กับจีนที่พลังทางเศรษฐกิจล้นเหลือกันทั้งสิ้น

ที่ห่วงกันอีกเรื่องคือ การผูกขาด และผลกระทบต่อกลุ่มเอสเอ็มอี ประเด็นนี้ แม้อาลีบาบาเป็นยักษ์วงการธุรกิจอินเทอร์เน็ตโลก แต่การผูกขาดในยุคเศรษฐกิจเสรีคงไม่ง่าย เพราะยังมีผู้เล่นในตลาดอีกหลายๆ รายที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนหากธุรกิจไปได้ดี และเอ็มโอยูสองฝ่าย รัฐบาลคงไม่ยกสิทธิการลงทุน สมาร์ท ดิจิทัล ฮับ ให้อาลีบาบา แต่เพียงผู้เดียวแน่

ที่สำคัญ อาลีบาบาเป็นกลุ่มธุรกิจที่ถือกำเนิดจากเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้างโดยธรรมชาติ

การฝืนตลาดไม่ว่าวิธีการใดๆเท่ากับทำลายศักยภาพของตัวเอง อีกทั้งตัวหม่าเอง คงต้องการให้ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ในไทยเข้มแข็งขึ้นๆ ซึ่งจะเอื้อมาถึงธุรกิจของอาลีบาบาที่ให้บริการช่องทางซื้อจัดส่ง และชำระเงินในที่สุด

แน่ละในฐานะประธานกลุ่มอาลีบาบา “หม่า” ย่อมหวังผลกำไร จากการลงทุนโครงการ สมาร์ท ดิจิทัล ฮับ โดยใช้ บริษัท caino smart logistics network ในฮ่องกง เป็นหัวหอกเหมือนกิจการทั่วๆ ไป

อาลีบาบาไม่ใช่มูลนิธิคงไม่ได้หวังแค่กล่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อติดโชว์ให้เท่านั้น ในทางกลับกัน อาลีบาบาและจีนย่อมได้ประโยชน์จากดีลนี้เช่นกัน

แจ็ค หม่า

อนาคตอันใกล้คงไม่ได้มีคำสั่งซื้อทุเรียนจากจีนผ่าน Tmall.com เพียงฝ่ายเดียว แต่จะมีออเดอร์จากไทยย้อนขึ้นกลับไปจีนด้วย หากมั่นใจได้เลยว่า นักลงทุนที่ชาญฉลาดอย่าง”หม่า”คงยึดหลักสมประโยชน์สองฝ่าย ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายกำไรยั่งยืนได้ดีกว่าการแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะหน้า

ขณะที่ฝ่ายเรา การที่อาลีบาบา เข้ามาลงทุนโครงการ สมาร์ท ดิจิทัล ฮับ และมีเอ็มโอยูด้านความร่วมมือพ่วงมาอีก 3 ฉบับ เท่ากับว่า เรามีทางลัดให้เดิน ในช่วงเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไปสู่ยุคดิจิทัล

ไทยควรฉวยโอกาสนี้ยืมพลังจากอาลีบา ร่วมสร้างผลประโยชน์ จากการเป็นประตูการค้าด้านดิจิทัลที่เชื่อมต่อจากจีน ไปกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีต้องหาประสบการณ์เพื่อเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆอยู่ตลอดเวลา อย่าลืมว่า ระบบนิเวศการค้าเปลี่ยนไปแล้วและกำลังจะเปลี่ยนอีก

อย่างที่หม่าแสดงวิสัยทัศน์ไว้ที่ทำเนียบว่า วันนี้ขายผ่านตู้คอนเทนเนอร์ แต่วันหน้าจะเป็นแพคเกจเล็กๆ ก่อนที่ตลาดการค้า จะพลิกโฉม จากตู้เหล็กใหญ่ๆ มาเป็นหีบห่อเล็กๆ ซื้อขายผ่านหน้าจอแทนหน้าร้าน

ไทยควรวางรากฐานเตรียมความพร้อมเอาไว้ อย่ากังวลจนไม่กล้าขยับอะไร โอกาสมาแล้วจะไม่หวนกลับมาอีก