Digital Economy

กสทช.ประมูลคลื่น 700 MHz ธ.ค.นี้ 7 ใบอนุญาต 20 ปี

กสทช.เปิดไทม์ไลน์ ประมูลคลื่นฯ 700 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาต อายุ 20 ปี เคาะราคา-เปิดประมูล ธ.ค.นี้  นำเงินจ่ายทดแทนทีวีดิจิทัล

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) เปิดเผยว่าวันนี้ (18 ม.ค.)  ได้จัดประชุม เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยเกี่ยวกับ (ร่าง) ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) เพื่อนำคลื่นฯดังกล่าว ซึ่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนดให้เป็นคลื่นฯสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของโลกยุคใหม่

700MHz 190118 0006
พ.อ.นที ศุกลรัตน์

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน คลื่นฯ 700 MHz เป็นคลื่นที่ใช้เพื่อประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติมาตรา 27 (12/1) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แก้ไขเพิ่มเติม  ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 กำหนดอำนาจของ กสทช. ในการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

ดังนั้น กสทช. จึงมีความจำเป็นที่ต้องเรียกคืนคลื่นฯ  700 MHz จากผู้ได้รับใบอนุญาตในกลุ่มทีวีดิจิทัล เพื่อนำมาจัดสรรใหม่สำหรับกิจการโทรคมนาคม (5G) และนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นฯ 700 MHz

มาทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ตาม (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz

125058 2525

หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz กำหนดให้

  • ประมูลคลื่นความถี่ 7 ใบอนุญาต ใบละ 2 x 5 MHz อายุใบอนุญาต 20 ปี
  • ใช้วิธีประมูลแบบหลายรอบ และราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ
  • ราคาขั้นต่ำเป็นไปตามหนังสือชี้ชวนตามที่คณะกรรมการประกาศ คาดว่าจะประกาศราคาได้ในเดือนธันวาคม 2562
  • เสนอราคาเพิ่มไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งตามกฎการประมูล
  • แต่ละรายให้ประมูลได้ไม่เกิน 3 ชุดคลื่นความถี่ หรือ ไม่เกิน 2 x 15 MHz
  • ผู้ชนะผ่อนจ่าย 9 งวด งวดแรก 20% งวด 2 – 9  สัดส่วน 10%
  • กรณีไม่ชำระเงินประมูลงวดที่สองและงวดอื่น ๆ ต้องชำระเงินเพิ่มจำนวนเท่ากับผลคูณของจำนวนเงินประมูลที่ค้างชำระกับอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี คำนวณเป็นรายวัน

สำหรับไทม์ไลน์การประมูลคลื่นฯ 700 MHz

  • เมษายน 2562  ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz ประกาศฯผ่านลงราชกิจจานุเบกษา  จากนั้นในเวลา  8 เดือน จัดทำแผนคลื่นความถี่ทีวีดิจิทัลฉบับใหม่, การประเมินมูลค่าคลื่นฯ 700 MHz  และแผนการปรับเปลี่ยนความถี่โครงข่ายทีวี (Mux)
  • ธันวาคม 2562  ประมูลคลื่นฯ 700 MHz  จากนั้นใช้เวลา 2 เดือน เพื่อให้โครงข่ายทีวีเสนอแผนปรับเปลี่ยนความถี่ เพื่อให้ กสทช. อนุมัติ
  • กุมภาพันธ์ 2563 จ่ายเงินประมูลคลื่นฯ 700 สัดส่วน 20%  จากนั้นใช้เวลา 10 เดือน เพื่อให้โครงข่ายทีวีปรับเปลี่ยนคลื่นความถี่
  • ธันวาคม 2563 ผู้ชนะประมูลเริ่มให้บริการคลื่นฯ 700 MHz

เชื่อโทรคมชิงคลื่นฯ 700 สร้างแหล่งรายได้ใหม่

พ.อ.นที กล่าวว่าคลื่นฯ 700 MHz  เป็นคลื่นความถี่หลักสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของโลกยุคใหม่ และเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนและสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) หรือ นโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล

เอไอเอส ดีแทค ทรู

การให้บริการ 5G จะเป็นการสร้างแหล่งรายได้สำคัญให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมในยุคใหม่ ที่จะเป็นบริการการเชื่อมต่อโครงข่ายดิจิทัลกับภาคอุตสาหกรรม เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ  ซึ่งมีมูลค่าสูง ต่างจากการให้บริการ 3G  และ 4G  ที่เป็นการให้บริการรายบุคคล ซึ่งปัจจุบันคนไทยมีสัดส่วนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอัตราสูง การให้บริการบุคคลคนจึงเติบโตไม่มาก

“เชื่อว่าเมื่อมีความชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นฯ 700 โอเปอเรเตอร์จะสนใจเข้าร่วมประมูลเพื่อขยายบริการ 5G สร้างแหล่งรายได้ใหม่”

หากการประมูลคลื่นฯ 700 MHz  รอบแรกมีผู้สนใจประมูลไม่ครบใบอนุญาตที่นำมาประมูล 7 ใบอนุญาต จะมีการประมูลรอบใหม่อย่างต่อเนื่อง  โดยเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นฯ 700 MHz  จะนำมาทยอยจ่ายทดแทนทีวีดิจิทัล สำหรับค่าใบอนุญาตที่เหลืออีก 2 งวด รวมทั้งค่าเช่าโครงข่ายทีวีและค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมตามประกาศมัสต์แครี่

Avatar photo