Politics

แพทยสภาจับมือเครือข่ายแนะแนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5

แพทยสภา เตือนประชาชนตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงฝุ่นละออง PM 2.5 และปรับตัวในระยะฉุกเฉินให้เหมาะสม แนะหลีกเลี่ยงเข้าพื้นที่สีแดง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ต้องป้องกันตัวเองจากฝุ่นละออง ร่วมมือสร้างเครือข่ายเสนอแผนป้องกันระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสุขภาพคนไทย

วันนี้ (17 ม.ค.) กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภาจัด ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “ฝุ่นละออง PM 2.5 กับปัญหาสุขภาพและแนวทางแก้ไข” โดยแนะประชาชนให้หลีกเลี่ยงเข้าพื้นที่สีแดง และปรับเวลาในการเข้าพื้นที่ให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยภูมิแพ้ หอบหืด ทางเดินหายใจ ฯลฯ พร้อมเตรียมป้องกันตัวเองจากฝุ่นละออง ส่วนการแก้ไขระยะยาว ทุกฝ่ายในเครือข่าย ร่วมมือและกำหนดมาตรการจริงจัง เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองลง และสนับสนุนมาตราการระยะยาว เช่น การปลูกต้นไม้ในเมือง

S 1777701
แพทย์สภา จัดประชุมเสวนารับมือปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา กล่าวถึงความจำเป็นเร่งด่วน ที่ประชาชนควรปฏิบัติตัวในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สังคมในตอนนี้เกิดการตื่นตัวจนถึงขั้นตื่นตระหนก “จริงๆ แล้วกระบวนการป้องกันตัวเอง สามารถทำได้มากกว่าการใช้หน้ากาก เน้นสิ่งที่ต้องทำในวันนี้ก่อน ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ และแนวทางในการศึกษา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขในระยะยาวได้ ลดปัญหาที่จะกระทบสุขภาพของประชาชน”

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขต่อปัญหาสุขภาพ ฝุ่นละออง PM 2.5 ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งหน่วยงานศูนย์ปฏิบัติการแพทย์สาธารณสุข EOC ขึ้น คอยประสานงานกับกรมอนามัย กรมการแพทย์ ฯลฯ จัดเตรียมข้อมูลเผยแพร่ และมีระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย โดยรวบรวมข้อมูลอัพเดตตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจัดทำชุดข้อมูลเผยแพร่การป้องกัน และดูแลสุขภาพเบื้องต้นแก่ประชาชน ในส่วนของปฏิบัติการเชิงรุก ได้ประสานเครือข่าย จัดทีมแพทย์เคลื่อนที่เข้าสู่ชุมชนในพื้นที่เสี่ยง และสั่งการให้โรงพยาบาลในเขต กทม และสังกัดกระทรวงเตรียมพร้อมรองรับและบริการประชาชน

นพ. ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ชี้แจงเรื่องข้อมูลพื้นฐานของฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ประชาชนควรรู้ว่า มลพิษทางอากาศ ถือเป็นสาเหตุการตายระดับต้นๆ ของกลุ่มที่เสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจ สถานการณ์ความเสี่ยงของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในขณะนี้มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง จากการที่สภาวะอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้ฝุ่นละอองขังตัวอยู่ในพื้นที่ และแหล่งกำเนิดของการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง จากการจราจรติดขัด และเผาชีวมวลต่างๆ ที่ทำให้เกิดปริมาณฝุ่นละออง ขณะนี้ เรามีสถานีวัดปริมาณฝุ่นละอองพบว่า จังหวัดกรุงเทพมหานครและสระบุรี มีปริมาณที่มาก

ทั้งยังพบว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 – มกราคม 2562 ผู้ป่วยทางเดินหายใจในกทม.และปริมณฑล มีปริมาณเพิ่มขึ้น อาทิ หอบหืด ทางเดินหายใจอื่นๆ หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ฯลฯ ทางกรมอนามัยเองได้ประกาศค่าเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนออกเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้และป้องกันตัวได้

S 1777702
แพทย์สภา จัดประชุมเสวนารับมือปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

ทางด้านปัญหาและผลกระทบและการดำเนินการ ในกรุงเทพมหานครที่เป็นที่วิตกของประชาชนในขณะนี้ ได้รับรายละเอียดจาก นพ.พิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ว่า กทม ได้กำหนดมาตรการระยะสั้น คือ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ใช้เครื่องวัดค่า PM 2.5 ของ กทม ทั้งหมด 34 จุด ตรวจวัดค่าและแจ้งสำนักงานเขตที่มีค่าสูงดำเนินการจัดการทันที ที่ผ่านมาได้ดำเนินการเฉพาะหน้าหลายอย่าง อาทิ ใช้การฉีดละอองน้ำขึ้นอากาศ ทำความสะอาดทางเดินเท้าเพื่อลดฝุ่น นำหน้ากาก N95 แจกจ่ายแก่ประชาชน เป็นการสร้างสัญลักษณ์ กระตุ้นให้ประชาชนรับรู้ ให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกัน และร่วมมือไม่สร้างฝุ่นมากขึ้น

รวมถึงการกวดขันและตรวจคุณภาพของรถโดยสารประจำทา งที่ปล่อยควันดำ และการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ไม่เผาขยะ และส่งเสริมเตาเผาศพที่ถูกสุขลักษณะ การควบคุมการก่อสร้าง และระยะยาวจะมีการสร้างพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น และส่งเสริมให้สร้างสวนแนวตั้งในพื้นที่จำกัด และการบังคับใช้กฏหมายการใช้รถยนต์ เป็นต้น

ขณะที่ นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประกาศกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ในวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคมนี้ ตั้งแต่เวลา 7.00 น. ในพื้นที่กทม. โดยรอบ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยลดปริมาณฝุ่นในท้องถนน

S 1777703
แพทย์สภา จัดประชุมเสวนารับมือปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

สำหรับเวทีการเสวนา “ปัญหาสุขภาพและแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน” มีประเด็นที่น่าสังเกตจากวิทยากรต่างๆ ดังนี้

1. ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้แทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประชาชนสามารถตรวจสอบได้จากแอพพลิเคชั่น ที่สามารถช่วยตรวจสอบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบเรียลไทม์ ควรรู้และปรับตัวให้เหมาะสม เช่น ปริมาณฝุ่นในพื้นที่ ระยะเวลาที่อยู่ และสภาพร่างกาย หากเราต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสีแดง คนธรรมดาสุขภาพปกติไม่มีโรค กลุ่มนี้ไม่ต้องกังวลมาก แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยภูมิแพ้ หอบหืด ทางเดินหายใจ ฯลฯ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองมากเป็นเวลานานๆ

หากมีความจำเป็นต้องไปอยู่ในพื้นที่สีแดงหรือสีส้มระยะหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร คนงานก่อสร้าง ควรมีหน้ากากป้องกันระหว่างทำงาน สังเกตอาการตัวเอง แก้ไขเบื้องต้นด้วยการใช้น้ำสะอาดล้างหน้า เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่เข้าตา เมื่อไหร่ต้องหาหมอ สังเกตอาการของตนเอง ตาแดง หอบหืดกำเริบ

2. รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อุปนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอแก้ไขความเข้าใจเรื่องหนัากากป้องกัน อุปกรณ์ป้องกัน คือ ไม่ให้ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายส่วนล่าง ที่มีความไวต่อการเกิดโรค ซึ่งสามารถเดินทางในร่างกายถึงถุงลมที่จะกระจายฝุ่นนี้สู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายได้ทั้งในแง่เฉียบพลัน และระยะยาว เช่น โรคมะเร็ง เด็กไม่เจริญตามวัย เป็นต้น การเอาผ้าชุบน้ำไม่มีประโยชน์ การใช้ทิชชู่ซ้อนในหน้ากากอนามัยช่วยกรองได้ดีขึ้น แต่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในขณะนี้ ว่าจะสามารถกรองได้เทียบเท่า N95 จะต้องมีการทดสอบคุณภาพของหน้ากากที่ถูกต้อง

3. นางสาวช่่อผกา วิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กล่าวว่า การทำลายสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นพิษ ต้นไม้ใหญ่ในเมืองจะเป็นทางออกระยะยาวทางหนึ่งได้ จะเป็นเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ มีงานวิจัยในอเมริกายืนยันว่า ต้นไม้ใหญ่ในเมืองช่วยลดการตายและการเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศได้ สำหรับประเทศไทย ควรเริ่มจากการหยุดตัดต้นไม้อย่างผิดวิธี เพื่อให้กิ่งก้านได้แตกยอดใบอ่อน อบรมให้ความรู้ด้านรุกขกรรม เพื่อตัดแต่งต้นไม้ให้ถูกวิธี ดูแลระบบราก มีมาตรการปลูกเพิ่ม เพิ่มการลงโทษทางกฎหมาย และขอให้รัฐบาล สั่งการทุกหน่วยงานมาบูรณาการ จัดทำแผนบริหารจัดการต้นไม้ในเมืองของชาติ เพื่อจัดสรรงบประมาณและดำเนินการโดยด่วน โดยการปลูกต้นไม้ ต้องมีปริมาณที่สัมพันธ์กับปริมาณประชากรในพื้นที่ และเน้นการปลูกต้นไม้ใหญ่เพราะไม้พุ่มใน กทม.มีมากพอแล้ว

4.ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าหน่วยวิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่่าวว่า มาตรการ เลื่อน ลด ละ เลิก ขึ้นอยู่กับระดับฝุ่นที่ต้องตรวจสอบตามระยะเวลาด้วย เลื่อน คือ การขยับเวลาการเดินทางออกนอกบ้านสายกว่าเดิม เพราะช่วงรุ่งสาง มีปริมาณฝุ่นสะสมเยอะกว่าในรอบวัน จึงควรต้องมีการวางแผนก่อน ลด การบริโภคสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ลดระยะเวลาในการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ละ ไม่เดินทางหรือ มีกิจกรรมในพื้นที่นั้นๆ เพราะผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อรับละอองฝุ่นขนาดเล็กเป็นเวลานานๆ มีแนวโน้มให้เกิดอาการโรคร้ายแรงอื่นตามมา อาทิ มะเร็ง สมองเสื่อม ฯลฯ โดยคนที่จะมีผลกระทบมากที่สุด เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย

S 1777704
แพทย์สภา จัดประชุมเสวนารับมือปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา ฝากข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป 3 ประเด็น คือ

1. สภาวะปัญหาฝุ่นจิ๋วในแต่ละช่วงเวลาของวันไม่เหมือนกัน อยากให้ตรวจสอบดูว่าในพื้นที่ที่เราอยู่อาศัยนั้น มีความเข้มข้นของฝุ่นละอองมากน้อยเพียงใด เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีฝุ่นพิษเข้มข้นเกินขนาด ไม่เปิดหน้าต่างและลดกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลาดังกล่าว

2. ต้นไม้เป็นเครื่องฟอกอากาศที่ดี ประชาชนสามารถ ร่วมมือกันกำจัดปัญหานี้ได้ ด้วยการปลูกต้นไม้ในบ้านเรือน ถ้าเป็นไปได้ควรเป็นต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้ต้นไม้ช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองได้ในระยะยาว

3. อยากให้ประชาชนทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามข้อมูลของสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับมาตรการ ลด ละ เลิก ในพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นควันพิษมาก อาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น โรงเรียน อาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนเวลาเข้าเรียน หรืองดกิจกรรมการแจ้งสำหรับนักเรียน ตลอดจน การออกกำลังกาย และการวิ่งมาราธอน ต้องศึกษาสภาพอากาศในพื้นที่และช่วงเวลากิจกรรมก่อน

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวสรุปในช่วงท้ายของการเสวนาครั้งนี้ว่า ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เกิดขึ้นทุกปีในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่ครั้งนี้มีมากขึ้นจนประชาชนรับรู้และตระหนัก นำไปสู่การร่วมคิด ร่วมใจกันแก้ไขปัญหา ถือเป็นจังหวะที่ต้องเร่งแก้ไข ทางแพทยสภาจึงจัดการระดมความคิดเสวนาขึ้น โดยนำข้อมูลสรุปเสนอสื่อมวลชน และเตรียมนำไปสู่การสัมมนาร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในวงที่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อจัดทำบทสรุป ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ และข้อเสนอแนะมอบให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง เป็นแนวทางแก้ไขระดับประเทศที่ยั่งยืนต่อไป

Avatar photo